วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2565


 

ประโยชน์ที่ควรรู้ของน้ำมันปลา

น้ำมันปลาคือสารอาหารกลุ่มไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งสกัดได้จากส่วนต่าง ๆ ยกเว้นจากตับของปลาทะเลบางชนิด สารสำคัญในน้ำมันปลาที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย คือ กรดไขมันไม่อิ่มตัวกลุ่ม “โอเมก้า-3” (Omega 3 Polyunsaturated fatty acids) น้ำมันปลาที่มีสภาพเป็นน้ำมันบริสุทธิ์หรือเป็นไตรกลีเซอไรด์บริสุทธิ์จะมีองค์ประกอบของกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงกลุ่มโอเมก้า-3 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของปริมาณกรดไขมันทั้งหมด กรดไขมันไม่อิ่มตัวกลุ่มโอเมก้า-3 ประกอบด้วยกรดไขมันหลัก 2 ตัว คือ “ดีเอชเอ” (DHA, Docosa-hexaenoic Acid) และ “อีพีเอ” (EPA, Eicosa-pentaenoic Acid) จะส่งผลต่อกลไกการทำปฏิกิริยาระดับเมแทบอลิซึมที่เกี่ยวพันกับดีเอ็นเอ ดังนั้น กรดไขมันโอเมก้า-3 จึงถูกจัดเป็น “สารเมแทบอโลมส์” (Metabolomes) 

นอกจากนี้ ยังมีรายงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่กล่าวถึงบทบาทของกรดไขมันโอเมก้า-3 ในการยืดอายุขัยทั้งทางตรงและทางอ้อม ในทีนี้จึงขอแบ่งบทบาทของกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่มีต่อกลไกการยืดอายุขัยและชะลอความชราออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ 

1. Anti-inflammatory หรือการต้านการอักเสบ

เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมถอยลง นำไปสู่การเกิดภาวะอักเสบในเซลล์และอวัยวะต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะอักเสบ ภูมิต้านทาน และความชราภาพเช่นนี้เองทำให้เกิดคำใหม่เรียกว่า Inflammaging อันหมายถึงภาวะอักเสบจากความเสื่อมถอยของภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากความชราภาพ นำไปสู่การสิ้นอายุขัยของเซลล์ จึงกล่าวได้ว่าความชราภาพคือภาวะอักเสบเรื้อรังที่เกิดขึ้นกับร่างกายนั่นเอง การลดภาวะอักเสบจึงเป็นกลไกสำคัญในการยืดอายุขัยและลดความชราภาพ มีข้อมูลวิจัยยืนยันว่ากรดไขมันโอเมก้า-3 จากปลา ทั้งชนิด EPA และ DHA สามารถลดภาวะอักเสบในเซลล์ผ่านกลไกการเพิ่มสารต้านอาการอักเสบ (Anti-inflammation) ซึ่งเกี่ยวข้องกับสารเมแทบอไลท์ตัวสำคัญคือ PGE3, PGD3, PGI3 (LTB5) และ TXA3 รวมทั้งสารอนุพันธุ์ของสารเหล่านี้บางตัว ดังนั้นการที่กรดไขมันโอเมก้า-3 สามารถลดภาวะอักเสบเรื้อรังด้วยกลไกทางเมแทบอโลมิกส์เช่นนี้ จึงส่งผลให้ความชราภาพถูกชะลอให้ช้าลงได้

2. Good mind หรือการเติมอารมณ์เบิกบาน

กรดไขมันโอเมก้า-3 ได้รับสมญานามอย่างไม่เป็นทางการว่า Happy fat หรือไขมันก่อสุข เนื่องจากกรดไขมันโอเมก้า-3 ทั้งชนิด EPA และ DHA สามารถออกฤทธิ์ลดภาวะซึมเศร้าได้ โดยเข้าไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์บางตัวที่ทำลายเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารกึ่งฮอร์โมนที่สร้างขึ้นในสมอง การลดลงของสารเซโรโทนินก่อปัญหาในผู้ป่วยทางสมองหลายกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยสมาธิสั้น (ADHD, Attention Deficit Hyperactivity Disorder) ไบโพลาร์ จิตเภท และผู้ป่วยทางอารมณ์บางกลุ่ม เช่น ภาวะซึมเศร้า ดังนั้นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าอันเป็นผลจากการขาดสารเซโรโทนิน นั่นคือการได้รับกรดไขมันโอเมก้า-3 ในปริมาณไม่เพียงพอนั่นเอง ที่สำคัญ ภาวะซึมเศร้าตลอดจนโรคทางสมองอื่นๆ ยังเร่งความชราภาพให้เกิดมากขึ้นด้วย

3. Elongated Telomere หรือการต่ออายุขัยให้เทโลเมียร์

เทโลเมียร์คือดีเอ็นเอที่อยู่ส่วนปลายสุดของโครโมโซมแต่ละแท่ง หน้าที่สำคัญคือกำหนดอายุขัยของเซลล์ ทุกครั้งที่เซลล์แบ่งตัว เทโลเมียร์จะสั้นลง ด้วยเหตุนี้เมื่ออายุเพิ่มขึ้นจนเข้าสู่วัยชรา เทโลเมียร์ที่ผ่านการแบ่งตัวหลายครั้งจึงสั้นลงจนไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก เป็นผลให้อายุขัยจบสิ้นลง ความยาวของเทโลเมียร์จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสื่อมสภาพของเซลล์ การยืดอายุขัยอาจทำได้โดยทำให้เทโลเมียร์ยาวขึ้น หรือโดยชะลอการหดสั้นลงของเทโลเมียร์ ซึ่งทั้งสองกรณีนักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจกลไกดีนัก รู้เพียงว่ากรดไขมันโอเมก้า-3 ออกฤทธิ์ชะลอการหดสั้นลงของเทโลเมียร์ได้

เครดิต : เวปไซด์ StudioABO Amway Thailand