วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

เล่นไม่เลิก, กัดไม่ปล่อย


"Patience and perseverance have a magical effect before

which difficulties disappear and obstacles vanish."


"ความอดทนและความเพียร เป็นคาถาเสกให้ความยากลำบากและอุปสรรคหายไป."


เครดิต John Quincy Adams (ประธานาธิปดีคนที่ 6 ของอเมริกา)

 

วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

ไม่ใช้สิ่งที่ได้มา แต่คือสิ่งที่เป็นอยู่


John Wooden บอกว่า "Don't measure yourself by what you have accomplished, but by what you should have accomplished with your ability.


"อย่าเพิ่งตัดสินตัวคุณเองที่ความสำเร็จ แต่ให้ตัดสินที่ความสามารถ"


ความสำเร็จที่ได้มา บางครั้งอาจบังเอิญ จึงอาจเป็นความสำเร็จที่ไม่ยั่งยืน หรืออาจเป็นความสำเร็จเพียงส่วนตัว พาคนอื่นให้สำเร็จตามไม่ได้ แต่ถ้ามีความสามารถ, เก่ง และเป็นมืออาชีพ ก็จะเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืน เพราะลงมือทำอะไร, เมื่อไหร่ ก็สำเร็จทุกครั้ง แล้วยังพาคนอื่นสำเร็จตามได้อีกด้วย






John Wooden เป็นโค้ชทีมบาสเกตบอลที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา มีเทคนิคในการสอน ลูกทีมให้ประสบความสาเร็จ สามารถนาทีมไปสู่ชัยชนะ โดยใช้หลักการ “พีระมิดแห่งความสาเร็จ” หรือ “The Pyramid of Success” ซึ่งลูกทีมทุกคนสามารถจดจาและนาไปใช้ได้ทั้งในสนามการแข่งขันและในการ ดาเนินชีวิต
หลักการของ Wooden มีรากฐานมาจาก "พีระมิดแห่งความสาเร็จ" ของเขา ซึ่งคนส่วนใหญ่รู้จักกันดี อยู่แล้ว เป็นสูตร 15 ขั้นสู่ชัยชนะ ซึ่งได้แก่ ความขยัน มิตรภาพ ความซื่อสัตย์ ความร่วมมือ ความ กระตือรือร้น การควบคุมตนเอง การตื่นตัว การริเริ่ม การทางานเป็นทีม ทักษะ สภาพเงื่อนไข ความสุขุม ความเชื่อมั่น และความอยากแข่งขัน และความเชื่อต่างๆ ที่ Wooden มีอยู่ มาจากหลากหลายแหล่ง ตั้งแต่ Benjamin Franklin แม่ชี Theresa จนถึงบิดาของเขาเอง Joshua Wooden
"จงมีชีวิตเหมือนกับว่าคุณจะตายพรุ่งนี้ แต่จงเรียนรู้เหมือนกับว่า คุณจะมีชีวิตอยู่ไปตลอดกาล" คือ แนวคิดท่ี Wooden เห็นว่าเป็นหัวใจของผู้นา กล่าวคือการเร่งแสวงหาความรู้โดยเร่งด่วน Wooden ให้ ความสาคัญกับความไว้วางใจ เพราะหากปราศจากความไว้วางใจระหว่างทีมกับผู้นา ก็ไม่ใช่ทีมที่แท้จริง แต่ เป็นเพียงการมารวมกันของคนแต่ละคน ซึ่งไม่อาจทาอะไรได้มากนัก Wooden เชื่อว่า ดาวเด่นของทีม ก็คือ ตัวทีมทั้งทีม หาใช่ใครคนใดคนหนึ่งในทีม ไม่ว่าคนคนนั้นจะอัจฉริยะเพียงใด 



วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

ระหว่างวัตถุ กับจิตใจ


Zig Ziglar นักพูด และนักการตลาดชื่อดังชาวอเมริกัน กล่าวไว้ว่า "If standard of living is your major objective, quality of life almost never improves, but if quality of life is your number one objective, your standard of living almost always improves."


"ถ้าคุณมุ่งเป้าหมายที่จะตั้งมาตรฐานการครองชีพไว้สูง คุณภาพชีวิตจะถดถอย  แต่ถ้ากลับกัน คือตั้งคุณภาพชีวิตเป็นหลัก มาตรฐานความเป็นอยู่จะดีขึ้นเสมอ"


ความหมายก็คล้าย ๆ กับที่หลายคนเคยได้เห็นข้อความประมาณว่า "เราซื้อเตียงราคาแพงได้ แต่ซื้อการนอนหลับไม่ได้, ซื้อบ้านได้ แต่ซื้อครอบครัวอบอุ่นไม่ได้, ซื้อยาดี ๆ ได้ แต่ซื้อสุขภาพดีไม่ได้ ฯลฯ......."


ในที่นี้ ครอบครัวที่ดี คือคุณภาพชีวิต แต่บ้านแพงๆ มันเป็นเพียงตัววัดมาตรฐานการครองชีพ ดังนั้น พวกเราจงตั้งเป้าหมายไปที่คุณภาพชีวิต มากกว่ามุ่งประเด็นไปที่ตัววัตถุ นั่นเอง

วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

ไว้อาลัยแด่ มงกุฏฑูตมาณวิกา ขุนคล้าย


ผมขอเป็นตัวแทนครอบครัวศิริวรรณ เพื่อไว้อาลัยต่อการจากไปของพี่แดง มงกุฏฑูตมาณวิกา ขุนคล้าย ผมเชื่อว่าในโลกนี้ ถ้าไม่มีท่าน ก็คงไม่มีมรกตณัฐภรณ์ ศิริวรรณ ไม่มีเพชรบริหาร, เพชร, มรกต, ไพลิน, แพลตินั่ม ตลอดถึงผู้นำ และครอบครัวแอมเวย์ อื่น ๆ นับเรือนหมื่นคนก็ว่าได้ ทั้งในองค์กรของท่าน และเพื่อนนักธุรกิจต่างองค์กร ตลอดจนสมาชิกแอมเวย์นับแสน ทุกคนเหมือนได้รับพรจากสวรรค์ ที่มีโอกาสใช้สินค้าที่ดี, ทำธุรกิจที่ดี, มีอิสระภาพ ครอบครัว ความหวัง รางวัล.....

ทั้งหมด ล้วนเกิดจากที่พี่แดง ได้มีวิศัยทัศน์ เริ่มต้นทำธุรกิจแอมเวย์มาตั้งแต่ปีแรก ๆ ของประเทศไทย และอดทนทำจนประสบความสำเร็จระดับสูงสุดของประเทศ เป็นตัวอย่าง, เป็นกำลังใจให้ดาวน์ไลน์ก้าวตาม

ดังนั้น แม้ว่าบุญบารมีของพี่แดงที่ได้สร้างไว้จะเหลือคณานับ แต่ผมก็ขออำนาจพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์ จงบันดาลบุญของผมที่ได้เคยสร้างสะสมไว้ทุก ๆ ชาติภพ อุทิศให้แก่พี่แดง ขอให้ดวงวิญญาณของพี่แดงไปสูสุขคติ และขอให้พบพระพุทธศาสนา ได้บรรลุธรรมสูงสุดสู่นิพพาน ในภพชาติอันใกล้นี้ ด้วยเทอญ

วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555

การนับถือตัวเอง......



"Self-confidence and self-esteem are also important factors to make a man respectable.
If you do not like your own self, or your life or the way you're living your life,
then people will not regard you as respectable either."


"ความมั่นใจในตนเองและความนับถือตนเอง เป็นองค์ประกอบของศักดิ์ศรีมนุษย์ หากคุณไม่ชอบตัวเอง หรือไม่ชอบเส้นทางชีวิตของคุณเองแล้ว คนอื่นก็จะไม่นับถือคุณเช่นกัน " 

เครดิต George Wood

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

ทุกคนเรียกร้อง "คุณภาพ"


William Adlebert Foster วีรบุรุษอเมริกัน กล่าวว่า
"Quality is never an accident; it is always the result of high intention, sincere effort, intelligent direction and skillful execution....."



"คุณภาพไม่ใช่เหตุบังเอิญ ; มันเป็นผลลัพท์จากความพยายามอย่างสูง, ความตั้งใจแน่วแน่, มีไหวพริบและความเชี่ยวชาญ ....."


ทุกคนเรียกร้อง "คุณภาพ" ....ที่คนอื่นทำไว้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่เสียสละที่จะสร้างมัน มีแต่จะ "เรียกร้อง"




วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555

การอ่านเป็นเครื่องมือขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตที่ดี



โจเซฟ แอดดิสัน นักประพันธ์และรัฐบุรุษ ชาวอังกฤษ (Joseph Addison,1672-1719) กล่าวว่า "การอ่านเป็นเครื่องมือขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตที่ดี"






เขายังบอกอีกว่า "ถ้าต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต ให้ใช้ประสบการณ์ดี ๆ ของตัวเองไปช่วยคนอื่น"




วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

ของขวัญที่มีค่าที่สุดในโลก คือ "อิสรภาพ" (ตอนที่ 4)

ว่าด้วยเรื่องการมอบอิสรภาพ ให้ลูก

ถ้ายังไม่ได้อ่าน หรืออ่านแล้วอยากอ่านอีก คลิ๊กไปอ่าน ตอนแรก ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 กันได้เลยครับ

ลืมว่าวันนี้วันเด็ก (14 มค.) ไม่งั้นนั่งปั่นบทความนี้ตั้งแต่เมื่อคืนนี้แล้ว พอดีเข้าบรรยากาศวันเด็ก......เข้าเรื่องเลยนะครับ

ตามหัวเรื่องครับ ในตอนนี้ผมจะพูดถึงเรื่องลูก....เรื่อง "อิสรภาพ" ของลูก

ผมมีลูกคนเดียว เรียนแพทย์ ปี 2 ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองเลี้ยงลูกเก่ง เธอเก่งด้วยตัวของเธอเอง ที่ผมทำคือ ทำให้ดีที่สุดตั้งแต่ภรรยาตั้งครรภ์...และทำให้ดีมากขึ้นไปอีก ตั้งแต่คลอดจน 3 ขวบ......

....หลังจากนั้น ผมก็ได้มอบของขวัญที่มีค่าที่สุดให้ลูก นั่นคือ อิสรภาพ

ตอนนี้ผมอายุ 57 ลูก 21 ย้อนหลังไปตอนที่ผมคิดว่าผมพร้อมจะมีลูก ผมก็อายุเกือบ 35 แล้ว...ถามว่า "อะไรคือพร้อม?" ผมมีแนวคิดช่วงนั้นว่า


  1. ลูก....คือคนที่เราติดหนี้บุญคุณ เมื่อเราพาคน ๆ หนึ่งให้เกิดขึ้นมาเป็นลูกของเรา เราก็ต้องตอบแทนบุญคุณลูกที่เกิดมาทำให้เรามีความสุข (ไม่ใช่คิดเฉพาะว่าลูกจะต้องตอบแทนบุญคุณพ่อแม่...เพราะลูกไม่เคยอ้อนวอนขอมาเกิด มีแต่พวกเราที่ไปพาเขามาเกิด โดยไม่รู้ว่าตลอดชีวิตของเขา จะเจอสุข-ทุกข์ หรือวิบากกรรมอะไรบ้าง เราจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบที่ทำให้เขาเกิดมา)
  2. แม่ของลูก ต้องเป็นคนที่ผมตัดสินใจแล้วว่าจะตายจากกัน เพราะไม่ว่าจะอย่างไร ผมจะไม่ให้ลูกอยู่ในสภาพพ่อไปทาง แม่ไปทาง อย่างเด็ดขาด (อดีตผมเป็นแบบนั้น และมันเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เจ็บปวด....ผมจะไม่ให้ลูกของผมเป็นเหมือนผม)
  3. เราพ่อแม่ "ต้อง" เลี้ยงลูกเอง ผมไม่ต้องการให้ลูก ถูกเลี้ยงโดยคนที่ไม่ได้เรียนรู้มาดีพอ เพราะผมรู้ว่า ช่วงสำคัญที่สุดของคน ๆ หนึ่งนั้น คือช่วงเวลาตั้งแต่ตั้งครรภ์...คลอด...จน 3 ขวบ หลังจากนั้นก็สายเกินไปแล้ว หากเด็กคนหนึ่ง โดนดูแลแบบผิด ๆ ความผิดปกติใด ๆ ก็ไม่อาจแก้ไขได้เมื่อเด็กโตขึ้นเกิน 3 ขวบแล้ว
  4. ผมต้องการให้แม่ของลูกผม เป็นแม่เต็มเวลา อย่างน้อยจนกว่าจะเข้าโรงเรียน (แม้ว่าผมจะมีแม่ภรรยา...ยายของลูก ที่พร้อมจะดูแลหลาน แต่ผมก็ยังต้องการให้เราสองคนดูแลลูกด้วยตัวเองตลอด 24 ชั่วโมงมากกว่า)
  5. เมื่อมีลูก....อย่างอื่นนอกจาก "ลูก" ก็ไม่สำคัญอีกแล้ว
ผมอ่านหนังสือเยอะมาก (เกี่ยวกับการเลี้ยงเด็ก และพัฒนาการของเด็ก) ประมวลจากที่อ่านมาทั้งหมดแล้วผมคิดว่าผมสามารถเตรียมพร้อมให้เด็กคนหนึ่ง โตขึ้นเป็นคนเก่ง และมีความสุขได้

คน ๆ หนึ่งที่เกิดมาจนจากโลกนี้ไป จะมี "ช่วงชีวิต" สำคัญ ๆ อยู่แค่ 3 ช่วงชีวิต คือ
  1. ช่วง "พึ่งพาคนอื่น"
  2. ช่วง "พึ่งตัวเอง"
  3. ช่วง "เป็นที่พึ่งของคนอื่น"
คนที่ประสบความสำเร็จ คือคนที่ใช้เวลาบนโลกอยู่ในช่วงที่ 3 แล้วเท่านั้น คือเป็นคนที่ "เป็นที่พึ่งของคนอืน" (น่าเสียดายที่คนบางคน เกิดมาจนตาย ใช้ชีวิตอยู่ช่วงที่ 1 ช่วงเดียว คือต้อง "พึ่งพาคนอื่น" ตลอดชีวิต ....แบบนี้ต้องบอกว่า อย่าเกิดมาดีกว่า, คนบางคนแม้จะ "พึ่งตัวเอง" ได้ อาจทำได้เร็วกว่าคนอื่น แต่ก็ไม่ยอมข้ามไปในช่วงที่ 3 คือไม่ยอมช่วยเหลือแบ่งปันใคร ....แบบนี้อาจกล่าวได้ว่า เกิดมาหรือไม่เกิดมา ก็มีค่าเท่ากัน)

ผมเชื่อว่า คน ๆ หนึ่ง ได้ชีวิตมาเป็นมนุษย์แล้วนั้น ย่อมถือว่า "มีคุณค่า" และ "ได้อภิสิทธิ์" มากกว่าสัตว์อื่นในโลก แต่ "คุณค่า" ของมนุษย์นั้นจะเพิ่มขึ้นอีก หากว่าได้ทำ "หน้าที่" ในการดูแลคนอื่น.....มนุษย์ที่ดูแลคนอื่นได้ ย่อมสมควรกับที่ได้เกิดมาบนโลก

"สิทธิ มาคู่กับ "หน้าที่" เสมอ นี่คือกฏ ถ้าใครรู้กฏนี้ ชีวิตก็สมดุล

(ใช้สิทธิมาก วิถีชีวิตตกต่ำ ทำหน้าที่มาก วิถีชีวิตขึ้นสูง )

ดังนั้น ช่วงเวลาในชีวิตของลูก ต้องอยู่ในช่วงเวลาที่ 3 คือเป็นที่พึ่งของคนอื่นให้มากที่สุด นั่นหมายถึงลูกต้อง "พึ่งตัวเอง" ให้ได้เร็วที่สุดด้วยนั่นเอง เราพ่อแม่ จึงจัดสภาพแวดล้อมให้ลูกได้พัฒนาตัวเองตั้งแต่เรื่องของ ร่างกาย, จิตใจ, สมอง และ อารมณ์ ไม่ให้ตกอยู่ในสภาพ "พึ่งพาคนอื่น" นานเกินไป 
  • ช่วงตั้งครรภ์ ผมทำสภาพแวดล้อม ไม่ให้ภรรยาทุกข์, กังวล, เครียด ใด ๆ ทั้งสิ้น เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะอารมณ์แม่ มีผลกับลูกในท้อง
  • ช่วงเดือนแรก ๆ ผมสร้างสภาพแวดล้อม ไม่ให้เด็กแรกเกิดมีทุกข์, กังวล, เครียด, ตกใจ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องเทคนิคครับ รายละเอียดเยอะมาก (แชร์ให้ฟังสักเล็กน้อยก็ได้...แต่ถ้าอยากรู้ละเอียด คุยส่วนตัวได้ครับ ผมถือว่าผมจบปริญญาเอกได้เลยเรื่องนี้...) เช่น ห้องเลี้ยงเด็กต้องเงียบสนิท ไม่ให้เสียงภายนอกรบกวน, เปิดเทปเพลง 24 ชั่วโมง ตลอด 6 เดือน, ไม่อนุญาตคนอื่นนอกจาก เราสองคนพ่อแม่ ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของลูก....เช่น เรื่องการให้นม, การอาบน้ำ, การเปลี่ยนผ้าอ้อม ฯลฯ แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ ก็จำเป็นต้องระวังอย่างยิ่ง หลาย ๆ อย่างสำคัญสำหรับพัฒนาการ แม้แต่เวลา และปริมาณของอาหารเด็กแต่ละมื้อ ก็มีผลต่อการนอนหลับ การนอนหลับก็มีผลกับสมอง (เราสองคน ถึงกับเข้าเวรกลางคืน แม้ผมจะทำงานประจำตอนกลางวัน แต่ผมจะเข้าเวร เพื่อตื่นหลังเที่ยงคืนสลับกับภรรยาสัปดาห์ละครั้ง เพราะผมถือว่าภรรยาเลี้ยงลูกช่วงกลางวัน ก็เสียสละเท่ากับที่ผมไปทำงานตอนกลางวันเช่นกัน ผมจึงไม่เอาเปรียบภรรยานอนหลับทั้งคืน ปล่อยให้ภรรยาดูลูกตอนดึกคนเดียวโดยอ้างการทำงานหาเงินตอนกลางวัน)
  • ข้าง ๆ ที่นอนลูก (ตั้งแต่ลูกนั่งได้) เราจะวางหนังสือเล่มใหญ่ ที่มีภาพสีสวย ๆ ไว้ข้างตัวลูกตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อใดที่ภรรยาผมว่าง เธอก็จะเปิดหนังสือ ชี้ให้ลูกดูรูป คุยกับลูก ชี้ที่ตัวหนังสือแล้วอ่านให้ลูกฟัง ถ้าภรรยาผมไม่ว่าง แต่ลูกว่าง ลูกก็จะพยายามเปิดหนังสือเอง ทำท่าเคร่งเครียดเหมือนกำลังอ่านอย่างเอาจริงเอาจัง
  • เราคุยกับลูกด้วยภาษาผู้ใหญ่ ไม่เคยพูด อ้อ ๆ แอ้ ๆ กับลูก, เราไม่เคยหลอกให้ลูกตกใจกลัว, เราไม่เคยสัญญาอะไรลูกโดยที่เราทำไม่ได้, เราไม่เคยโกหกลูก
  • ก่อน 3 ขวบ ผมตีลูก สักสองสามครั้งที่ลูกดื้อ,ไม่มีเหตุผล ผมจะตีให้เจ็บ แล้วสอน (หลัง 3 ขวบ ก็ไม่เคยมีเหตุต้องตีลูกอีกเลย)
  • อย่างที่เล่าให้ฟังในบทความตอนแรก เราให้ลูกทานอาหารเองตั้งแต่ครบ 1 ขวบ โดยเราให้เค็กวันเกิด 1 ชิ้น ช้อน 1 อัน (แน่นอนว่าลูกก็กินเค็กไปได้บ้างอย่างสนุกสนาน แต่ส่วนใหญ่ของขนมเค็ก ย่อมติดอยู่ตามตัวลูกตั้งแต่หัวจรดเท้า) ของขวัญวันเกิดครับ 1 ปีของลูก ไม่ใช่เค็กก้อนนั้น แต่มันคือ "อิสรภาพ" ในการทานอาหาร ของลูกต่างหาก.....ตั้งแต่นั้นมา ลูกสนุกสนานกับการพยายามกินด้วยตัวเองมาตลอด
ตั้งแต่นั้นมา เราก็มอบ "อิสรภาพ" ให้ลูกทีละอย่าง เราให้ลูกเก็บออมเงินค่าขนมไว้ โดยให้แรงจูงใจด้วยการสมทบ (ถ้าลูกเก็บครบ 100 บาท เราสมทบให้อีก 100 บาท เป็นต้น) แล้วเราก็บอกลูกว่า เมื่อลูกมีเงินเก็บแล้ว ลูกก็ต้องซื้อของเล่นเองตามที่ลูกอยากซื้อ ปรากฏว่าลูกเลือกทำให้ตัวเลขในบัญชีเงินฝากเพิ่มขึ้น มากกว่าทำให้ของเล่นเพิ่มขึ้น

เราให้ลูกเลือกซื้อเสื้อผ้าใส่เอง, เราให้ลูกเลือกเวลาตื่นนอนตอนเช้าเองแม้ในวันที่ต้องเรียน (เล่าให้ฟังแล้วตอนแรก), เราให้ลูกเลือกวิชาเรียนเอง, เราให้ลูกเลือกเรียน หรือไม่เรียนพิเศษ, เราให้ลูกเลือกวิชาที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยเอง......วันนี้ ลูกเราเรียนแพทย์ปีสอง



ตั้งแต่ลูกเกิด ไม่มีอะไรที่เรา "ขอ" จากลูก เราไม่เคย "ขอ" ให้ลูกเรียนเก่ง ๆ , เราไม่เคย "ขอ" ให้ลูกทำตัวดี ๆ สิ่งที่เราทำคือ "ให้" อย่างเดียว ไม่ใช่ให้เงินให้ทอง ให้วัตถุสิ่งของ แต่ให้ "สภาพแวดล้อม" ที่ทำให้ลูกมีความรู้สึกอิสระ สภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมให้ลูกสามารถดูแลตัวเองได้ดี และเร็วที่สุด

สภาพแวดล้อมที่เราสร้างก็คือ "ครอบครัว" ที่ดี ผมและภรรยา ไม่เคยทะเลาะ, โต้เถียงกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลังลูก ผมสามารถพูดได้ว่า เราเป็นคู่ที่ทะเลาะกันไม่เป็น ลูกไม่เคยอยู่ในสถานการณ์ที่พ่อแม่ผิดใจกัน

ผมขอยืนยันอีกครั้งว่าผมไม่ใช่คนเก่ง ผมเพียงแต่ดำเนินชีวิตมา "ถูกทิศทาง" เพียงแต่ผมจับหลักการพื้นฐานง่าย ๆ ได้ไม่กี่อย่าง
  1. ผมทำหน้าที่ของสามีตามคำสอนของศาสนาพุทธ
  2. ผมถือศีล 5 และละเว้นอบายมุข
  3. ผมให้ของขวัญที่มีค่าที่สุดคือ "อิสรภาพ" กับทุกคนในครอบครัว
สำหรับอนาคตของลูก ผมเชื่อว่าผมคงไม่ต้องกังวลใด ๆ เพราะผมได้ใช้ความพยายามอย่างหนัก กับลูกเพียงในช่วง 3 ขวบแรกของชีวิตเธอมาแล้ว หลังจากนั้นเป็นต้นมา ผมคิดว่าผมไม่ได้ "เหนื่อย" กับการเลี้ยงลูกอีกเลย ผมมีความรู้สึกว่าลูก "ดูแลตัวเอง" ได้ดีมาตั้งแต่ตอนนั้น ดังนั้น ในตอนนี้ที่ลูกกำลังเรียนแพทย์....อีกไม่กี่ปีลูกก็จะจบได้เป็น

"แพทย์หญิงอิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร" 

ลูกก็ได้จะทำหน้าที่ "ดูแลผู้อื่น" ได้ชื่อว่าเป็นคนที่เข้าไปอยู่ในช่วงชีวิตของการ "เป็นที่พึ่งของคนอื่น" ตั้งแต่อายุยี่สิบต้น ๆ ....อย่างนี้คิดว่าผมจะเป็นกังวลกับชีวิตของลูกอีกไหมล่ะครับ?

ผมทำได้ ทุกท่านก็ทำได้ครับ (จบแบบนี้ คุ้น ๆ ไหมครับ)

บันทึกเพิ่มเติม : วันที่ 8 ตุลาคม 2559 วันนี้ผมอายุ 61 ปี ลูกจบแพทย์แล้ว เป็นแพทย์เกียรตินิยมด้วย กำลังเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง .....หลายคนบอกผมกับภรรยาว่า "โชคดีจัง" ผมจะบอกให้นะครับ "โชค" แปลว่า เมื่อโอกาสมาถึง เรา "รู้" ว่ามันเป็นโอกาส และมีความพร้อมเสมอที่จะรับโอกาสนั้น ...

ไม่มีอะไรครับ อัพเดทให้เฉย ๆ


วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ของขวัญที่มีค่าที่สุดในโลก คือ "อิสรภาพ" (ตอนที่ 3)

เคยเขียนเรื่องนี้ไว้ 2 ตอนครับ ตอนที่ 2 ได้ทิ้งท้ายไว้ว่ามันยังไม่น่าจบ....วันนี้ก็เลยขอเล่าต่อ

กลับไปอ่านสองตอนแรกก่อนสำหรับท่านที่ยังไม่อ่าน (หรืออยากอ่านทบทวน)

ของขวัญที่มีค่าที่สุดในโลก คือ "อิสรภาพ" (ตอนแรก)
ของขวัญที่มีค่าที่สุดในโลก คือ "อิสรภาพ" (ตอนที่ 2)


"ในบทความเรื่องนี้ตอนแรก ผมได้ตั้งคำถามไว้ว่า....
เราจะทำอย่างไรดี ที่จะดูแลคนที่เรารักไม่ให้ออกนอกเส้นทาง คำตอบก็คือคำถามที่ว่า เส้นทางของใครล่ะ....ของเขาหรือของเรา?"

ก็ในเมื่อเรามีปัญหาอยู่ว่า คนรอบ ๆ ข้างของเรานั้น ทำนู่นทำนี่ไม่ได้อย่างใจ ชวนหงุดหงิด แล้วผมจะบอกให้ปล่อยให้เขาทำอะไรก็ได้ตามที่ "จิตอิสระ" ของพวกเขาจะบงการ อย่างนั้นหรือ?

คำตอบคือ "ใช่แล้ว" ....สิ่งที่ตามมาถ้ามันเป็นปัญหา ไม่ใช่จะถามว่า "แล้วจะต้องทำอย่างไร?" แต่มันจะต้องเป็นว่า "แล้วจะต้องคิดอย่างไร?" ต่างหาก

ยกตัวอย่างเลยละกัน....สมมติยกเรื่องสามีภรรยา

ประเด็น สามี/ภรรยา ไม่ได้อย่างใจ

ผมว่าวิธีคิดคือเราต้องเข้าใจเรื่องสิทธิ และหน้าที่....พระพุทธเจ้าสอนไว้ครับว่า หน้าที่ของสามีคือ

1. ยกย่องให้เกียรติสมกับฐานะที่เป็นภรรยา
2. ไม่ดูหมิ่น
3. ไม่ประพฤตินอกใจ
4. มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้
5. หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส

ส่วนหน้าที่ของภรรยา ก็คือ

1. ยกย่องให้เกียรติสมกับฐานะที่เป็นภรรยา
2. สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
3. ไม่นอกใจสามี
4. รักษาทรัพย์สมบัติที่สามีหาได้มา
5. ขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง

และผมก็เชื่อว่าทุก ๆ ศาสนา ก็มีคำสอนถึงหน้าที่ของ สามี/ภรรยา ไว้เช่นกัน

ในกรณีของผม ผม "เชื่อ" ว่าผมมีความสามารถพอที่จะ "เลือกภรรยา" ที่สามารถทำหน้าที่ได้ครบถ้วน (ซึ่งถ้าหากว่า ผมได้ภรรยาที่บกพร่องหน้าที่ ผมก็คงไม่อาจโทษภรรยาได้ ต้องโทษตัวเองที่ไร้ความสามารถที่จะเลือกภรรยาที่ดีได้ต่างหาก)

แล้วผมก็จะทำหน้าที่ของสามีให้เต็ม 100% แถมให้ด้วยการถือศีล และละเว้นอบายมุขทั้งปวง (ศีล คือรั้วป้องกันวิบากกรรม ละอบายมุข คือปิดเส้นทางตกต่ำล่มจม) จากนั้นด้วย "ศรัทธา" ใน กฎของจักรวาลคือ ทำดีต้องได้ดี ดังนั้นครอบครัวของเราต้องดีแน่นอน

เพราะเหตุดีแล้ว ผลก็คือ ภรรยาต้องภูมิใจสามี, รู้สึกขอบคุณ, รู้สึกดีกับตัวเองที่เลือกสามีได้ดี ถ้าภรรยาผมเป็นคนที่ผม "เลือก" ได้ดีแล้ว เธอก็จะทำ "หน้าที่" ของเธอได้ครบถ้วนเพื่อตอบแทนบุญคุณของผมที่ทำหน้าที่ได้ดี...และเมื่อเธอทำ "หน้าที่" ได้ดีจนผมรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณภรรยา ผมก็ยิ่งต้องทำหน้าที่ให้ดีขึ้นไปอีกเพื่อตอบแทนบุญคุณภรรยาให้สมกับความดีของภรรยามากขึ้นไปอีก .... ในที่สุดก็คือ แม้ว่าเธอจะเป็นภรรยา แต่เธอก็ได้ครอบครองสมบัติอันล้ำค่าคือ  "อิสระภาพ" ที่ผมได้มอบให้ภรรยาของตัวเองไปตั้งแต่ต้นนั่นเอง

แต่ถ้าผมไม่ได้สนใจใน "หน้าที่" ของสามี แต่จะใช้ "สิทธิ" ความเป็นสามี แล้วก็คอยแต่ "ทวงสิทธิ" ให้ภรรยาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ให้ตัวเอง เช่น เธอต้องดูแลฉัน, เป็นคนปลดเปลื้องทางเพศของฉัน, ทำอาหารให้ฉัน, ทำงานบ้านให้ฉัน, ออกลูก และเลี้ยงลูกให้ฉัน, ไปหาเงินเพิ่มเข้าบ้าน, ห้ามแต่งตัวสวยล่อชายอื่น ฯลฯ สรุปคือ "ล่าม" ไว้ แล้วคอยแต่ "ระแวง" ว่าเธอจะไปมีคนอื่นหรือเปล่า? ทำนองนั้น....ถ้าเป็นแบบนี้ ก็นับเป็นโชคร้ายของฝ่ายภรรยา ในที่สุดครอบครัวก็พังทะลาย

สรุป คือผมเชื่อว่าผมมีความสามารถพอที่จะ "เลือก" ภรรยาดี ๆ ได้ และผมจะไม่ดูถูกตัวเองที่จะต้องไประแวงใด ๆ หรือคอย "ควบคุม" ความประพฤติใด ๆ ของภรรยา (เลือกมาดีแล้ว ก็ไว้วางใจให้อิสระภาพในการทำหน้าที่ของภรรยาไป)....สำหรับตัวเองก็มีศีล ละเว้นจากอบายมุข .....ต่อจากนั้นถ้ามันไม่ดี ก็ถือว่าเป็นวิบากที่เราเคยสร้างกรรมมาให้ต้องชดใช้กรรมกันไป

ไม่จบอีกแล้วครับ ตอนหน้าว่าด้วยเรื่อง "อิสรภาพที่เรามอบให้กับลูก" ครับ?

ลิ้งค์ไปอ่านตอนสุดท้ายครับ ตอนที่ 4 

วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

อยู่ที่ความคิด....

Dale Carnegie กล่าวว่า....

"Remember happiness doesn't depend upon who you are or what you have;it depends solely on what you think."
"ขอให้ระลึกว่า ความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า เธอเป็นใคร หรือว่าเธอมีอะไร แต่ทว่าขึ้นอยู่กับว่าเธอคิดอะไรอยู่ต่างหาก"

เดล คาร์เนกี เขียนหนังสือเรื่อง ศิลปะการผูกมิตรและจูงใจคน และ หยุดวิตกกังวลและอยู่อย่างมีความสุข หนังสือได้รับการตีพิมพ์ทั้งหมด 38 ภาษา นอกจากนี้เขาได้เขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์และมีรายการวิทยุประจำวันของตนเอง
ปัจจุบันเดล คาร์เนกี เป็นชื่อศูนย์ฝึกอบรมซึ่งมีสำนักงานต่างๆ กว่า 70 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

____________________________________________________________
Oprah Winfrey

โอปราห์ วินฟรีย์ (Oprah Winfrey) มีชื่อจริงว่า โอปราห์ เกล วินฟรีย์ (Oprah Gail Winfrey) (เกิดเมื่อ 29 มกราคม ค.ศ. 1954) เป็นพิธีกรชื่อดังประเภททอล์คโชว์ รายการ The Oprah Winfrey Show ทอล์คโชว์ที่มีเรทติ้งการชมสูงที่สุดในประวัติศาสตร์รายการโทรทัศน์ และยังเป็นผู้หญิงชาวแอฟริกัน อเมริกันที่รวยที่สุดในศตวรรษที่ 20


"The older I get, the more centered I become and the more I think I really know about myself. What I know is that what other people do doesn't really have any effect on me."
"ยิ่งอายุมากขึ้น ฉันก็ยิ่งให้ความสำคัญกับตัวเองมากขึ้น และยิ่งใคร่ครวญมากเท่าไหร่ ฉันก็ยิ่งรู้จักตัวเองมากขึ้นเท่านั้น สิ่งที่ฉันรู้ก็คือ สิ่งที่ใครต่อใครทำนั้น อันที่จริงแล้วมันไม่ได้มีผลอะไรต่อตัวฉันเลย" 

วิธีคิดแบบหมวก ๖ ใบ (ยาวมากครับ ค่อย ๆ อ่านกันนะ)




            บุคคลสำคัญ ที่สามารถพลิกกระบวนการคิดที่ซับซ้อน และ ยุ่งยากจนไม่อาจอธิบายให้เห็นเป็นรูปธรรม
ได้นั้น
            คือ ศาสตราจารย์ ดร. เดอ  โบโน  ผู้เป็น ๑ ในจำนวน ๒๕๐ คน  ที่มีผลงานอันโดดเด่น  และเป็นประโยชน์
ที่สุดต่อมวลมนุษยชาติ
            ดร. เดอ โบโน  เป็นเจ้าของรายการทีวี สองสามรายการ
            ดร. เดอ โบโน  เขียนหนังสือมาแล้ว  ไม่น้อยกว่า ๖๒ เล่ม  ที่ถูกแปลเป็นภาษาต่าง ๆ  ๓๐ ภาษาทั่วโลก
            ผลงานของเขาถูกอ้างอิงใน  internet  ไม่น้อยกว่า ๔,๐๐๐,๐๐๐ แห่ง
            เขาได้รับเชิญไปสอนในประเทศต่าง ๆ มากกว่า ๕๐ ประเทศ
หนังสือเล่มหนึ่งของ ดร. เดอ โบโน  ที่ชื่อว่า   Six Thinking Hats   ได้กลายเป็นตำรามหัศจรรย์ ของการเปลี่ยน
แปลงวิธีคิด ซึ่งนามธรรมให้เป็นรูปธรรม อย่างไม่น่าเชื่อ และ อย่างง่ายดาย
            ตำราของ ดร. เดอ โบโน  ที่เรียกกันว่า ง่าย ๆ วิธีคิดแบบหมวก ๖ ใบ เล่มนี้   สามารถนำไปประยุกต์กับ
กิจการต่าง ๆ อย่างไร้ขีดจำกัด



วิธีคิดแบบหมวก ๖ ใบ  นี้    เป็นวิธีที่ง่าย ๆ  แต่มีพลานุภาพร้อนแรงดุจปรมาณู




        ตำราหมวกปรมาณู เล่มนี้  ได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่แล้วทั่วโลก    จำนวนพิมพ์พุ่งสูงและรวดเร็วราวกับพายุ
ทอนาโด  และ ยังถูกตีพิมพ์อยู่เรื่อย ๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน
            ภายใน ๑๔ ปี  ตำราเล่มนี้มียอดพิมพ์มากกว่า ๒๔ ล้านเล่ม
            มีผู้บันทึกไว้เป็นหลักฐานว่า  จะมีก็แต่พระคัมภีร์แห่งคริสศาสนา และดิกชันนารี
เท่านั้น  ที่ตำราหมวกของ ศาสตราจารย์ ดร. เดอ โบโนไม่สามารถตีเสมอได้

จากแนวคิดของ ดร. เอ็ดเวิร์ด เดอ โบ โน (Dr. Edward de Bono) เจ้าของความคิดแบบคู่ขนาน (parallel 
thinking) โดยยึดหลักที่ว่า อย่าเอาความเห็นที่ขัดแย้งมาปะทะกัน ให้วางเรียงขนานกันไว้แล้วประเมินผล
ได้เสียอย่างเป็นระบบ

สาระสำคัญของการคิดแบบคู่ขนานคือ อาจจะมีบางเวลาที่ทุกๆคนกำลังมองไปในทิศทางเดียวกัน แต่เราก็

เปลี่ยนทิศทางนั้นได้ คนๆหนึ่งอาจจะถูกมองไปในทางเหนือ หรือมองไปทางทิศตะวันออก นั่นเป็นชื่อของทิศทาง
ตามมาตรฐานเท่านั้น เราจำเป็นต้องมีชื่อทิศทางในการคิด ในหลายๆวัฒนธรรม มีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น
มากระหว่างการคิด และ ?หมวกคิด? คุณค่าของหมวกในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ในการคิดนี้ก็คือ มันกำหนด
บทบาทของผู้สวม ซึ่งหมวกทั้ง 6 ใบ 6 ส ีจะเกี่ยวเนื่องกับการคิดได้แก่ สีขาว สีแดง สีดำ สีเหลือง สีเขียว 
และสีฟ้า

หนึ่งครั้งหนึ่งเรื่อง

ความสับสนเป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดของการคิดที่ดี เราพยายามทำหลายสิ่งหลายอย่างมากเกินไปในเวลาเดียวกัน

 เรามองหาข้อมูล เราได้รับผลกระทบจากความรู้สึกของเรา เราแสวงหาความคิดใหม่ๆและทางเลือกใหม่ 
แล้วเรายังต้องระมัดระวัง เราอาจเห็นประโยชน์ที่อาจมีอยู่ นั่นคือหลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องทำระหว่างการคิด 
การโยนรับสับเปลี่ยนหกลูกในเวลาเดียวกันเป็นเรื่องยาก ลูกเดียวต่อครั้งง่ายกว่ามากด้วยวิธีการคิดแบบหมวกนี้
 เราพยายามทำเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นในแต่ละครั้ง ครั้งหนึ่งเราอาจจะมองหาอันตรายที่อาจมีอยู่(หมวกดำ)อีก
ครั้งหนึ่งเราแสวงหาความคิดใหม่ๆ(หมวกเขียว) และอีกบางครั้งที่เราสนใจข้อมูล(หมวกขาว)เราจะไม่พยายาม
ทำทุกย่างในเวลาเดียวกัน เวลาเราทำงานพิมพ์สี สีแต่ละสีจะพิมพ์แยกกันทีละครั้ง ทีละสีและสุดท้ายเราก็ได้รับ
งานผลรวมเป็นงานพิมพ์สีที่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับความคิดแบบหมวกทั้งหก เราทำแต่ละเรื่องในแต่ละครั้ง 
และสุดท้ายภาพที่เต็มสมบูรณ์ก็จะปรากฏภายใต้เรื่องราวทั้งหมดนี้คือความจำเป็นทางจิตวิทยาที่ต้องแยก
ความคิดแต่ละแบบออกจากกัน

หมวกหกใบหกสี
แต่ละใบของหมวกคิดทั้งหกจะมีสีต่างกัน ขาว แดง ดำ เหลือง เขียว ฟ้า สีคือชื่อของหมวกแต่ละหมวก สีของแต่ละหมวกยังมีความสัมพันธ์กับการทำงานของมันด้วย

สีขาว สีขาวเป็นกลางไม่มีอคติ ไม่ลำเอียง หมวกขาวจะเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงและตัวเลข
สีแดง สีแดงแสดงถึงความโกรธ ความเดือดดาล และอารมณ์ สีแดงให้มุมมองทางด้านอารมณ์
สีดำ สีดำคือข้อควรระวัง และคำเตือน ซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของความคิดนั้นๆ
สีเหลือง ให้ความรู้สึกในทางที่ดี หมวกสีเหลืองเป็นมุมมองในทางบวก รวมถึงความหวัง และคิดในแง่ดีด้วย
หมวกสีเขียว หมายถึงความคิดริเริ่ม และความคิดใหม่ๆ
สีฟ้า หมายถึงการควบคุม การจัดระบบ กระบวนการคิดและการใช้หมวกอื่นๆ



หมวกขาว
หมวกขาวเกี่ยวข้องกับข้อมูล เมื่อหมวกขาวถูกนำมาใช้ทุกคนมุ่งสนใจที่ข้อมูลเพียงอย่างเดียว

อะไรคือข้อมูลที่เรามี?
อะไรคือข้อมูลที่จำเป็น?
อะไรคือข้อมูลที่ขาดหายไป?
อะไรคือปัญหาที่เราต้องยกขึ้นมาถาม?
เราจะหาข้อมูลที่ต้องการใช้ มาได้อย่างไร?

เรามักใช้หมวกขาวในตอนเริ่มต้นของกระบวนการประชุม เพื่อเป็นพื้นฐานของความคิดที่กำลังจะเกิดขึ้น หมวกขาวคือสภาวะที่เป็นกลางหมวกขาวรายงานถึงสิ่งต่างๆในโลก ถึงแม้จะยอมให้ใช้เพื่อรายงานถึงความคิดที่ถูกนำมาใช้ หรือได้รับคำแนะนำมาก็ตามส่วนที่สำคัญของหมวกขาวคือการระบุถึงข้อมูลที่จำเป็นที่ขาดหายไป หมวกขาวจะบอกถึงปัญหาที่ควรจะยกขึ้นมาถาม หมวกจะแสดงวิธีการ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็นพลังงานหมวกขาวมุ่งไปสู่การเสาะหาและตีแผ่ข้อมูลอย่างเป็นกลาง และไม่มีอคติ ไม่ต้องตีความ ขอแค่ข้อเท็จจริงเท่านั้น อะไรคือข้อเท็จจริงต่างๆของเรื่องนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกข้อมูลทับตายบุคคลที่ใช้ความคิดโดยหมวกขาวจะสามารถระบุความต้องการให้แคบลง เพื่อจะดึงแต่ข้อมูลที่จำเป็นออกมาหมวกขาวจะให้แนวทางในการจัดการกับข้อมูล เราสามารถจะสวมบทบาทของหมวกขาวเท่าที่ต้องการ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่แท้จริง เห็นได้ชัดว่าการสวมบทบาทของหมวกขาวต้องอาศัยทักษะและความเชี่ยวชาญ ซึ่งบางทีอาจมากกว่าหมวกใบอื่นๆเสียด้วยซ้ำจุดมุ่งหมายของการคิดแบบหมวกขาวคือเพื่อให้ใช้ได้ในทางปฏิบัติ เพราะฉะนั้นเราต้องสามารถนำข้อมูลทุกรูปแบบมาตีแผ่ได้ ประเด็นสำคัญคือต้องตีกรอบขอบเขตอย่างเหมาะสม

หมวกแดง
การใช้หมวกแดงจะทำให้ทุกคนมีโอกาสเปิดเผยความรู้สึก อารมณ์ สัญชาติญาณหยั่งรู้ออกมาโดยไม่ต้องมีคำอธิบาย หรือหาเหตุผลใดๆ เมือใส่หมวกแดง ความรู้สึกจะถูกเปิดเผยออกมาในหลายระดับ การแสดงอารมณ์มีแบบอย่างที่หลากหลายตามวัฒนธรรมที่แตกต่างกันเราไม่จำเป็นต้องอธิบายหรือหาเหตุผลให้ความรู้สึกต่างๆของเรา เราเพียงแค่แสดงความรู้สึกที่มีอยู่ในขณะนั้นออกมาเท่านั้นเอง หมวกแดงจะมีประโยชน์ถ้าเราใส่หมวกแดงกันตั้งแต่เริ่มต้นประชุมเพื่อประเมินความรู้สึกของทุกคน แล้ใส่หมวกสีแดงอีกครั้งหนึ่ง ตอบจะปิดประชุมเพื่อจะดูว่าความรู้สึกของคุณได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหรือไม่ เวลาใส่หมวกแดงกับเรื่องอะไรเราจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องนั้นๆให้ชัดเจนด้วย ไม่เช่นนั้นจะเกิดความสับสนได้ ถ้าจำเป็นประธานในที่ประชุมอาจนำเสนอความคิดหนึ่งกระจายออกไปในหลายแง่มุม หมวกสีแดงยังหมายรวมถึงความรู้สึกเชิงปัญญา (intellectual feeling) ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้เลย หมวกแดงทำหน้างานบนพื้นฐานของปัจเจกบุคคลเสมอ ทุกคนที่อยู่ในที่ประชุมจะถูกขอให้แสดงความคิดหมวกแดงในประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ โดยที่แต่ละคนไม่มีสิทธิ์บอกผ่าน เวลาถูกขอให้แสดงความรู้สึกของตน แต่อาจใช้คำพูดในทำนองว่า เป็นกลาง ยังตัดสินไม่ได้ ยังสับสนอยู่ ยังสงสัยอยู่ เจตนารมณ์ของหมวกสีแดงคือการแสดงความรู้สึกอย่างที่เป็นอยู่ออกมา ไม่ใช่การบีบให้ตัดสินใจการคิดแบบหมวกแดงเป็นการคิดแบบใช้อารมณ์และความรู้สึกไม่ต้องมีเหตุผลเข้ามาเกี่ยวโยง หมวกสีแดงจะเปิดช่องทางที่เป็นทางการและชัดเจน เพื่อตีแผ่สิ่งเหล่านี้ออกมาอย่างเต็มที่ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกต้องของแผนที่ทางความคิดทั้งหมดถ้าเราไม่ป้อนข้อมูลส่วนที่เป็นอารมณ์ และความรู้สึกเข้าไปในกระบวนการทางความคิด มันจะถูกซ่อนอยู่ข้างใน และจะส่งผลต่อความคิดทั้งหลายโดยไม่รู้ตัว อารมณ์ ความรู้สึก ลางสังหรณ์ และสัญชาติญาณ มีความแรงกล้าในตัวของมันเอง และเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงหมวกสีแดงจะกระตุ้นให้มีการค้นหา คือ : เรื่องนี้มีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไรเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง?ความจำเป็นอย่างมากที่ต้องใส่หมวกสีแดง ก็เพราะมันจะช่วยลดการทะเลาะวิวาท เพราะหมวกสีแดงจะเปิดโอกาสที่ชัดเจนสำหรับแสดงอารมณ์ควมรู้สึกจึงไม่มีความจำเป็นที่เราเข้ามาขัดจังหวะในทุกๆประเด็น และใครรู้สึกว่าจำเป็นต้องแสดงอารมณ์เขาก็จะมีโอกาสแสดงอารมณ์ของเขา และไม่จำเป็นต้องคาดเดาความรู้สึกของคนอื่นอีกต่อไป เพราะมีวิธีที่จะถามเขาตรงๆได้ อารมณ์เป็นส่วนหนึ่งของวิธีคิดและเรื่องที่ต้องคิด ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะหวังให้อารมณ์หายไป เพื่อเหลือไว้แต่ความคิดล้วนๆ

หมวกดำ
หมวกดำ เป็นรากฐานของการคิด พินิจพิเคราะห์ และระบบการคิดที่มีเหตุผล รากฐานการคิดโต้แย้งด้วยเหตุผล คือการที่เราสามารถชี้ออกมาได้ว่าสิ่งใดผิดปกติหรือไม่แน่นอนคงที่ ผิดไปจากที่เป็นเคยเป็นหมวกดำจะช่วยเราในการแยกแยะได้ว่าสิ่งใดไม่เหมาะสม หรือไม่สอดคล้องกับทรัพยากร นโยบาย กลยุทธ จริยธรรม ค่านิยม รวมทั้งเรื่องอื่นๆของเราหมวกดำทำงานโดยอิงอยู่กับกลไกทางจิตอย่างหนึ่งตามธรรมชาติ นั่นคือ กลไกการจับคู่ กล่าวคือ สมองของเราเรียนรู้ที่จะสร้างแบบแผนการคิดและคาดหวังต่างๆขึ้นตามประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เรารับรู้ว่าโลกเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ เมื่อเราพบว่าบางสิ่งบางอย่างไม่สอดคล้องหรือเข้าคู่กับแบบแผนความคิดที่มีอยู่เดิม เราจึงคิดว่าสิ่งนั้นผิดปกติ ทำให้เราไม่สบายใจและระวังตัว กลไกธรรมชาตินี้เป็นไปเพื่อปกป้องมิให้เราทำผิดพลาด ประสบการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าคนที่มีความระแวดระวังจนเป็นนิสัย ก็สามารถใช้วิธีการของหมวกคิดทั้ง 6 ใบเป็นอย่างดี วิธีการคิดแบบหมวกสีดำทำให้พวกเขาพัฒนาการใช้ความคิดอย่างรอบคอบ ระมัดระวังจนเต็มศักยภาพ แต่เมื่อเหตุการณ์มาถึง พวกก็สามารถหันเหจากความคิดแบบปกป้องตัวเอง ไปสู่การคิดแบบหมวกอื่นๆได้อย่างไม่มีปัญหา หมวกสีดำเป็นหมวกคิดที่เป็นธรรมชาติ และสอดคล้องกับวิธีการคิดของตะวันตกมาก หมวกสีดำชี้ให้เราเห็นความผิดปกติ สิ่งใดไม่สอดคล้อง สิ่งใดใช้ไม่ได้ มันช่วยปกป้องเราไม่ให้เสียเงินและพลังงาน ป้องกันไม่ให้เราทำอะไรอย่างโง่เขลาเบาปัญญา และผิดกฎหมายหมวกดำเป็นหมวกคิดที่มีเหตุผลเสมอ เพราะในการวิพากษ์ วิจารณ์ พินิจพิเคราะห์สิ่งใด จะต้องเป็นการคิดที่มีเหตุมีผลรองรับ การคิดแบบหมวกดำเป็นการชี้ข้อบกพร่องของกระบวนการคิด พยานหลักฐานมีน้ำหนักเพียงพอหรือไม่ สรุปได้หรือไม่ ข้อสรุปนี้เป็นเพียงข้อสรุปเดียวหรือเปล่า หมวกสีดำจะชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของกระบวนการคิดได้การใช้หมวกดำเราต้องระวังไม่ให้มันนำเรากลับไปสู่ข้อโต้แย้งแบบเดิมๆ แม้ว่าบางครั้งมันจะเชิญชวนให้เราหลงประเด็นกลับไปเป็นเช่นนั้นได้ง่ายๆ เราอาจใช้มันช่วยชี้ข้อผิดพลาดในกระบวนการคิด หรือช่วยตีแผ่แจกแจงความคิดและมุมมองต่างๆ แบบการคิดคู่ขนานได้ แต่ในที่สุดแล้ว เราก็ต้องวาดแผนที่ออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ปัญหา อุปสรรค ความยุ่งยาก และอันตรายที่เป็นไปได้คืออะไร อยู่ตรงไหน เหล่านี้ล้วนแจกแจง อธิบาย และทำให้กระจ่างได้

หมวกสีเหลือง
การคิดแบบหมวกเหลืองเป็นการคิดในเชิงบวก การมองโลกในแง่ดี การมุ่งมองที่ประโยชน์ การคิดก่อที่ให้เกิดผล หรือทำในสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นได้ การคิดแบบหมวกเหลืองเกี่ยวข้องกับการประเมินค่าทางบวก ขณะที่หมวกดำเป็นการประเมินค่าทางลบ การคิดแบบหมวกเหลืองจะเป็นความคิดด้านดี แต่การคิดแบบนี้ต้องอาศัยระเบียบ วินัย เหมือนหมวกสีขาวหรือสีดำเช่นกัน มันไม่ใช่เป็นการประเมินบางสิ่งบางอย่างในทางบวกเท่านั้น แต่เป็นการค้นหาด้านที่เป็นบวกอย่างตั้งใจ บางทีการค้นหานี้ก็ล้มเหลวนักคิดหมวกเหลืองควรพยายามหาสิ่งสนับสนุนการมองในแง่ดีที่เสนอให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ความพยายามนี้ควรใช้เหตุผลผิดชอบและละเอียดถี่ถ้วน แต่การคิดแบบหมวกเหลืองไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่เพียงการที่ข้อคิดเห็นเหล่านั้นสามารถอ้างเหตุผลสนับสนุนได้เต็มที่การคิดแบบหมวกเหลืองเน้นไปที่การสำรวจและการคาดการณ์ในทางบวก เราตั้งใจหาประโยชน์ที่เป็นไปได้ แต่เราก็หาเหตุผลมาสนับสนุน การหาเหตุผลนี้เป็นความพยายามที่จะทำให้ข้อเสนอแนะมีน้ำหนักขึ้น หากการสนับสนุนด้วยเหตุผลนี้ไม่มีอยู่ในการคิดแบบหมวกสีเหลือง มันก็จะไม่มีอยู่ในหมวกคิดสีอื่นๆการคิดแบบหมวกเหลือง เกี่ยวกับการคิดในเชิงโต้ตอบ (Reactive Thinking) เป็นการประเมินในด้านบวก ซึ่งเป็นเหมือนกับการประเมินในด้านลบของหมวกดำ นักคิดหมวกสีเหลืองเลือกแง่บวกของข้อคิดเห็น เหมือนกับนักคิดหมวกสีดำหยิบยกแง่ลบ การคิดแบบหมวกเหลืองจะเกี่ยวข้องกับการผลิตข้อเสนอนั้นๆการคิดแบบหมวกเหลืองเป็นการพิจารณาและการเสนอแนะ มันเป็นท่าทีของการเดินหน้าแก้ปัญหาด้วยความหวัง การคิดแบบหมวกสีเหลืองพยายามจะมองหาและคว้าประโยชน์หรือคุณค่าที่มองเห็นได้ ทันทีที่มีการมองแบบนี้ การสำรวจก็จะเริ่มต้นไปในทิศทางนั้นๆการคาดการณ์ของการคิดแบบหมวกเหลืองเป็นการคิดแบบหาโอกาสของความเป็นไปได้ล้วนๆ มันเป็นมากกว่าการแก้ปัญหาและการปรับปรุง คนถูกบังคบให้แก้ปัญหา แต่ไม่มีใครเคยถูกบังคับให้มองหาโอกาสอย่างไรก็ตามทุกคนที่มีอิสระที่มองหาโอกาสถ้าพวกเขาต้องการ การคิดแบบคาดการณ์ต้องเริ่มต้นที่การวาดภาพสถานการณ์ที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ด้วยวิธีนี้เราสามารถประเมินผลประโยชน์สูงสุดที่อาจเกิดขึ้นได้จากความคิดนั้น ถ้าสถานการณ์ที่ดีที่สุด กลับให้ประโยชน์ต่ำความคิดนั้นก็ไม่คุ้มค่าที่จะดำเนินต่อ ในมุมมองเชิงคาดการณ์ การคิดแบบหมวกสีเหลืองจะช่วยให้นึกภาพของสถานการณ์ที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้และผลประโยชน์ที่สูงสุดหลังจากนั้นก็ปรับลงตาม ?ความน่าจะเป็น? ในที่สุดการคิดแบบหมวกดำก็จะชี้จุดที่ยังน่าสงสัยอยู่การคิดแบหมวกเหลืองเกี่ยวข้องอย่างมากกับการทำให้เกิดสิ่งต่างๆขึ้น หมวกเหลืองอาจเกี่ยวกับการนำความคิดหนึ่งที่เคยถูกใช้มาแล้ว กลับมาใช้งานใหม่ การคิดแบบเหลืองอาจเกี่ยวกับการผลิตทางเลือกในการแก้ไขปัญหา การคิดแบบหมวกเหลืองอาจทำได้แม้กระทั่งสร้างโอกาส แต่การคิดแบบหมวกเหลืองนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนความคิดและมุมมอง นั่นเป็นเรื่องของการคิดแบบหมวกเขียว การออกมองหาบางสิ่งบางอย่างในด้านบวก ในตัวของมันเองอาจจะสร้างมุมมองใหม่ขึ้นมาและนั่นอาจเกิดขึ้นได้กับการคิดแบบหมวกเหลือง
ขณะที่การคิดแบบหมวกสีดำสามารถชี้จุดบกพร่องและปล่อยให้หมวกเขียวแก้ใขในจุดที่บกพร่องนั้น การคิดแบบหมวกเหลืองก็จะหาโอกาสและปล่อยให้การคิดแบบหมวกเขียวหาทางออกใหม่ๆในการใช้ประโยชน์ในโอกาสนั้น

หมวกเขียว
เมื่อเราสวมหมวกสีเขียวเราคิดถึงทางเลือกใหม่หรือสิ่งใหม่ที่ที่ทดแทนของเก่าได้ ซึ่งนั่นรวมถึงทางเลือกที่ชัดเจนและใหม่สดจริงๆ เมื่อเราสวมหมวกสีเขียว เราหาวิธีที่จะปรับเปลี่ยนและปรับปรุงความคิดใหม่ที่เสนอมาข้อดีของหมวกเขียว คือ ทุกคนมีช่วงเวลาหนึ่งที่กำหนดให้พยายามทุ่มสมองใช้ความคิดริเริ่ม ความคิดริเริ่มไม่ได้เป็นเรื่องของ?นักออกความคิด? อย่างเดียวอีกต่อไป หมวกสีเขียวหมายถึงความคิดสร้างสรรค์ทั้งแบบ?ไม่มีกรอบ? และ ?ในกรอบ?หมวกเขียวจะเกี่ยวข้องกับความคิดใหม่ๆและวิธีการใหม่ๆในการมองสิ่งต่างๆดั้งนั้นหมวกสีเขียวจึงเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง การคิดแบบหมวกเขียวเป็นการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าแทนที่จะตัดสินใจความคิดเชิงยั่วยุและความเคลื่อนไหวทางความคิดนั้นจะไปด้วยกัน ถ้าไม่มีวิธีคิดแบบเคลื่อนไหว เราก็ไม่สามารถจะใช้ความคิดเชิงยั่วยุได้ และถ้าเราใช้ความคิดเชิงยั่วยุมากระตุ้นไม่ได้ เราก็ยังคงติดอยู่กับกรอบความคิดเดิมๆการคิดแบบหมวกเขียว ความจำเป็นของการยั่วยุ แรงกระตุ้นหรือความยั่วยุ เกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ เราไม่สามารถพบความจริงเชิงยั่วยุได้ก็เพราะมันไม่อยู่ในระบบความคิดปัจจุบันเลย บทบาทของมันก็เพื่อกระตุ้นความคิด ให้หลุดออกจากกรอบความคิดที่เป็นอยู่ความคิดเรื่องทางเลือกแสดงให้เห็นว่ามีมากกว่าหนึ่งวิธี ที่จะทำอะไร หรือมองอะไรการรับรู้ว่าอาจจะมีทางเลือกอื่น และการแสวงหาทางเลือกนั้นเป็นพื้นฐานของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในการใช้แนวคิดนอกกรอบนั้น ก็เพื่อมุ่งหาทางออกใหม่ๆนั่นเองความตั้งใจจะหาทางเลือกใหม่ (ทั้งการรับรู้ใหม่ คำอธิบายใหม่ การกระทำใหม่ ) เป็นกุญแจสำคัญของหมวกความคิดสีเขียวการค้นหาทางเลือกใหม่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่สร้างสรรค์ นั่นคือการยอมรับว่ามีหนทางที่แตกต่างออกไป การค้นหาทางเลือกในความเป็นจริงนั้นอาจไม่ต้องการความคิดสร้างสรรค์พิเศษอะไร จนกว่าทางเลือกที่ชัดเจนปรากฏขึ้นมา อาจทำง่ายๆแค่มุ่งความสนใจไปที่เรื่องที่เราจะคิด และนึกถึงวิธีต่างๆที่เราจัดการมันในทางปฏิบัตินั้นจะสะดวกกว่าถ้าใช้หมวกคิดสีเขียวในกระบวนการการค้นหาทางเลือกในการฝึกอบรมทางธุรกิจ เขามักจะเน้นเรื่องการตัดสินใจ แต่คุณภาพของการตัดสินใจขึ้นอยู่กับทางเลือกที่เปิดให้กับผู้ตัดสินใจเป็นอย่างมากกระบวนการสวมหมวกคิดสีเขียวส่งเสริมให้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้รับการยอมรับเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการคิดเหมือนด้านอื่นๆ

หมวกฟ้า
ภายใต้หมวกสีฟ้าในตอนเริ่ม เราจะเริ่มกำหนดประเด็นในการคิดและกำหนดลำดับการใช้หมวกแต่ละใบขึ้นมา หมวกสีฟ้าเป็นตัวกำหนด ?กลยุทธ? ในการคิด ในระหว่างขั้นตอนการคิด หมวกสีฟ้าจะรักษากฎ ระเบียบ และทำให้แน่ใจได้ว่าผู้เข้าประชุมยังสวมหมวกใบที่ตรงกับวาระการคิดนั้นๆ และหมวกสีฟ้ายังประกาศด้วยว่าได้เวลาเปลี่ยนหมวกต่างๆแล้วผู้ที่สวมหมวกสีฟ้าคือผู้ดำเนินการประชุมประธานการประชุม ในช่วงสุดท้ายของการคิด หมวกสีฟ้าจะร้องขอผลลัพธ์ ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของการสรุปย่อ ลงมติ การตัดสินใจ แนวทางแก้ไข และอื่นๆ ภายใต้หมวกคิดสีฟ้า เรากำหนดก้าวต่อไปได้ซึ่งอาจเป็นขั้นตอนของการลงมือทำ หรือการนำเอาไปคิดต่อในบางประเด็น หมวกสีฟ้าจะเป็นสัญลักษณ์ของการควบคุมสถานการณ์โดยรวมบ่อยครั้งที่การคิดมักดำเนินไปอย่างล่องลอย เรื่อยเปื่อย เป็นเพียงการตอบโต้ต่อความคิดที่เสนอขึ้นมา จากช่วงหนึ่งไปสู่อีกช่วงหนึ่งถึงแม้ว่าทุกคนจะมีเป้าหมายในใจ แต่ก็ไม่มีการชี้แจงอย่างชัดเจนว่าเป็นเป้าหมายหลัก หรือเป้าหมายรอง ข้อเสนอแนะ คำตัดสิน ข้อวิจารณ์ การโต้แย้ง ข้อมูล อารมณ์ ต่างก็ผสมเข้าด้วยกันเหมือนกับอยู่ในหม้อตุ๋นความคิด เป็นความปนเป ยุ่งเหยิงไปเรื่อยๆจนกว่านักคิดคนหนึ่ง จะสะดุดเข้ากับแนวทางที่เคยลองแล้วว่า น่าจะได้ผลตามต้องการ มันเป็นการสำรวจแบบส่งเดชไร้จุดหมาย ที่มาจากการวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบเป็นหลัก ข้อสันนิษฐานที่เป็นที่เป็นไปได้คือ เรามักเชื่อกันว่า ผู้คนที่ฉลาดมีเหตุผลที่ได้รับข้อมูลแวดล้อมอย่างเพียงพอ เมื่อได้ร่วมหารือกัน พวกเขาก็จะบอกได้ว่า ทางเลือกต่างๆมีอะไรบ้าง จากนั้นก็เลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุดข้อสันนิษฐานอีกอย่างก็คือว่า การคิดจะถูกหล่อหลอมขึ้นจากประสบการณ์ในอดีตและเงื่อนไขในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คำตอบ ?ค่อยๆเผยตัว?ขึ้นมาและนอกจากการกลั่นกรองอย่างหมดจดโดยการวิพากษ์วิจารณ์เทียบได้กับทฤษฏีวิวัฒนาการตามหลักของดาร์วิน ที่พูดถึงการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ที่แข็งแกร่งที่สุด ในการคิดก็เช่นกัน ความคิดที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้ ส่วนความกดดันอันโหดร้ายของสภาพแวดล้อมในทฤษฎีของดาร์วิน ก็เปรียบเหมือนแรงกดดันจากคำวิจารณ์ในด้านลบนั่นเองเราจะคิดแบบหมวกฟ้า เพื่อออกแบบโปรแกรมที่เราต้องการนำไปใช้ โปรแกรมการคิดจะมีความแตกต่างหลากหลายกันไป แล้วแต่สถานการณ์ หมวกสีฟ้าจะสร้างโปรแกรมที่เหมาะกับแต่ละสถานการณ์ โดยโปรแกรมการคิดนี้จะกำหนดไว้ตายตัวล่วงหน้า ซึ่งจริงๆแล้วการคิดส่วนใหญ่จะมีการผสมผสากันของหมวกดำและสีขาว โดยมีอารมณ์ความรู้สึกของหมวกแดงแฝงตัวอยู่เบื้องหลัง โปรแกรมหมวกสีฟ้าสามารถกำหนดไว้ล่วงหน้าก่อนได้ โดยใครก็ได้ที่นำวาระการคิดในที่ประชุม หรือทุกคนที่ร่วมประชุมจะร่วมกันออกแบบได้ ภาระกิจของหมวกฟ้า จะต้องหาผลสรุปสุดท้าย การคิดแบบหมวกสีฟ้า จะเกี่ยวกับการควบคุม และติดตามสถานการณ์ บทบาทของหมวกฟ้าคือสรุปความคิดที่เกิดขึ้น ไม่ใช่โต้แย้งเพื่อเข้าทางเลือกแบบใดแบบหนึ่ง

หมวก 6 ใบคิด 6 แบบ
แต่งโดย ดร.เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน
แปลโดย สุดตระการ ธนโกเศศ
พลอย จริยะเวช
ดวงพร มาจำเนียร
พินทุสร ติวุตานนท์
สาลินี หาญวารีวงศ์ศิลป์ 
  

เครดิต http://www.banprak-nfe.com/webboard/index.php?topic=623.0

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

เรามีเวลาน้อยแล้ว

วันนี้ขอคุยเรื่องเวลาหน่อยครับ (มีคนขอมา)


ลองดูภาพนี้:-

ตามภาพ เป็นผังการใช้เวลาของเราซึ่งแบ่งออกเป็น 4Q (มีตัวอย่างเสร็จสรรพ)

ก่อนอื่นคำว่า "สำคัญ" หมายถึงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิต หรือความปลอดภัย ส่วน "เร่งด่วน" หมายถึงต้องทำตอนนี้ หรือเดี๋ยวนี้ รอไม่ได้อีกแล้ว
  • Q1 คนแบบชอบทำสิ่งที่ "สำคัญ" และต้อง "เร่งด่วน" คนกลุ่มนี้ เป็นคนพื้น ๆ , ถ้าอยู่ในสถานการณ์แบบนี้บ่อย ๆ จะหมดไฟ, เครียด (เพราะต้องใช้พลังแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบ่อย ๆ) มีชื่อเล่นว่า "จอมผลัดวันประกันพรุ่ง"
  • Q2 คนแบบชอบทำสิ่งที่ "สำคัญ" แต่ "ไม่เร่งด่วน" คนกลุ่มนี้หายาก เป็นคนที่มีสมรรถนะสูง, มีสมดุลชีวิต และคุมเกมชีวิตได้ มีชื่อเล่นว่า "จอมจัดความสำคัญก่อนหลัง" 
  • Q3 คนแบบชอบทำสิ่งที่ "ไม่สำคัญ" แต่ "เร่งด่วน" คนกลุ่มนี้จะขาดวินัย, เป็นนักเอาใจ และมักจะกลายเป็นกระโถนท้องพระโรงให้เพื่อน ๆ (ชอบแสดงตัวเป็นนักให้คำปรึกษา) มีชื่อเล่นว่า "จอมเออออห่อหมก"
  • Q4 คนชอบทำสิ่งที่ "ไม่สำคัญ" และ "ไม่เร่งด่วน" ถ้าอยู่ตรงนี้นาน ๆ จะเบื่อตัวเอง, หมดไฟ และกลายเป็นคนเพี้ยน ๆ มีชื่อเล่นว่า "จอมเอ้อระเหย"
คนในกลุ่ม Q1 เป็นคนที่กำลัง "รักษาชีวิต" เต็มเหนี่ยว
คนในกลุ่ม Q2 เป็นคนที่กำลัง "สร้างชีวิต"
คนในกลุ่ม Q3 เป็นคน "เลี้ยงชีวิต" ไปวัน ๆ เอาแค่รอดไปเรื่อย ๆ
คนในกลุ่ม Q4 เป็นคน "ใช้ชีวิต" ข้อดีคือ ถ้าทำ Q2 สร้างชีวิตเสร็จแล้ว ค่อยไปทำ Q4 เพื่อ "ใช้ชีวิต ก็ไม่เป็นไร แต่ใครที่ยังสร้างชีวิตไม่เสร็จ ดันไป "ใช้ชีวิต" ก่อนถึงเวลาอันควร อนาคตดับแน่นอน

ตนเราส่วนใหญ่ที่พาชีวิตไปได้ไม่ถึงไหนนั้น พิจารณาให้ทะลุทะลวง ก็คือคนที่ชอบพาชีวิตตัวเองไปอยู่ใน Q3 คือ "เออออห่อหมก" กับพวกไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้ประโยชน์อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เสียเวลาไปเปล่า ๆ ปลี้ ๆ และอีกส่วนหนึ่ง (โดยเฉพาะพวกวัยรุ่น Gen Y, Gen Z ทั้งหลาย เดี๋ยวนี้ทำกันแต่ Q4 กลายเป็นจอม "เอ้อละเหย" วัน ๆ ไม่ทำอะไร หมกอยู่หน้าคอมเล่นเกม, เล่นเฟสบุก ฯลฯ ยัดหูฟังเพลงจาก iPod หรือไม่ก็ตะบี้ตะบันโทรศัพท์คุยกันได้ทั้งวี่ทั้งวัน ไม่เอางานเอาการ, ไม่สุงสิงกับพี่, น้อง, พ่อ, แม่, ญาติ ในบ้าน จะว่าไป เด็กไทยเกินครึ่ง กำลังเป็นอาการนี้อยู่

จริง ๆ แล้วคนเราถ้าไม่ "สร้างชีวิต" ด้วยการทำสิ่งที่ต้องทำ (สำคัญ) และนำมันขึ้นมาทำแต่เนิ่น ๆ (ไม่เร่งด่วน) ....เมื่อสร้างเสร็จก็ค่อย "ใช้ชีวิต" เอ้อละเหยอย่างไรก็ไม่มีใครตำหนิ (เพียงแต่คนที่ทำแบบนั้น พอมาใช้ชีวิตจริง ๆ ก็มักอยู่ใน Q4 ได้ไม่นาน เพราะคุ้นกับการสร้างงานสร้างชีวิต มีความสนุก และมีความสุขกับการใช้เวลาใน Q2 ตลอดเวลา)

แต่ถ้ามัวล่องลอยอยู่ใน Q4 หรือมัวแต่ ทำแต่สิ่งด่วน ๆ แต่ไม่สำคัญ ใน Q3 บ่อย ๆ วันหนึ่ง สภาวะสำคัญและเร่งด่วนของ Q1 จะตามมาแบบไม่ยอมให้โงหัว ในที่สุดก็ "เอาไม่อยู่" 

แล้วถึงจุดหนึ่ง คนพวกนี้ก็จะต้องมาร้องโหยหวนว่า "โห้ยยย ทำไมอะไร ๆ มันก็ประเดประดังกันมาพร้อม ๆ กันอย่างนี้???? "


เครดิตแรงบันดาลใจจากหนังสือ "อุปนิสัย 7 ประการสู่ความเป็นเลิศ" เวอร์ชั่นวัยรุ่น ของ จอห์น โควี่

วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

ของขวัญที่มีค่าที่สุดในโลก คือ "อิสรภาพ" (ตอนที่ 2)

ไปอ่านตอนแรก ที่นี่ ครับ

นี่เป็นสามเหลี่ยมทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ ของมาสโลว์


1. สีแดง เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์เพื่อความอยู่รอด

2. สีส้ม คือความต้องการความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนหน้าที่การงาน

3. สีเหลือง ความต้องการความรักผูกพันหรือการยอมรับ

4. สีเขียว เป็นความต้องการการได้รับการยกย่อง นับถือ

5. สีน้ำเงิน เป็นความต้องการสูงสุดของแต่ละบุคคล เป็นความต้องการทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง พูดสั้น ๆ คือต้องการมี "อิสระภาพ" นั่นเอง

ลึก ๆ แล้ว ความต้องการข้อ 5 มันเป็นสิ่งสูงสุด มันเป็นความไฝ่ฝัน และมนุษย์ที่ถือเสรีภาพเป็นสรณะ ก็อาจจะยอมแลกทุกอย่างเพื่อมัน....
  • บางคนขอเลือกทางตาย เพียงคิดว่าเป็นหนทางพ้นไปจากปัญหารอบด้าน นั่นก็คืออยากเป็น "อิสระ" จากปัญหาที่พันธนาการอยู่.....
  • ลูก หนีออกจากบ้าน....เพราะต้องการอิสระจากพ่อแม่ (ทั้ง ๆ ที่บ้านยังสนองตอบปัจจัยข้อ 1, 2, 3 ได้อยู่)
  • ครอบครัว และสังคมแตกแยก เพราะต้องการ "อิสระ" ทางความคิดของใครของมัน
  • ทีมงานล้มเหลว ถ้าผู้นำเผด็จการ
เราจะทำอย่างไรล่ะ?

ผมมีคำถามง่าย ๆ 2 ข้อ
  1. อดีต, ปัจจุบัน และอนาคต ช่วงไหนสำคัญที่สุด?
  2. ใครคือคนสำคัญที่สุดของเรา?
คำตอบข้อ 1. คือ "ปัจจุบัน" เพราะอดีตผ่านไปแล้ว แก้ไขไม่ได้, อนาคต ก็ยังมาไม่ถึง ส่วนปัจจุบัน เป็นช่วงที่เรากำลังอยู่กับมัน และทำอะไรก็ได้ เพื่อกำหนดอนาคต

ส่วนคำตอบข้อ 2. คนสำคัญที่สุดของเรา ไม่ใช่พ่อ, แม่, ลูก, คนรัก ฯลฯ และไม่ใช่แม้ "ตัวเราเอง" .......คนที่สำคัญที่สุดของเราคือ "คนที่อยู่ต่อหน้าเรา"

ถ้าเราเอาสองข้อมารวมกัน เราก็จะได้ "ข้อบัญญัติ" สำหรับตัวเองที่ว่า "ณ ปัจจุบัน คนสำคัญที่สุดคือคนที่อยู่ต่อหน้าเรา" (เอาตัวเราเองออก) 

สิ่งที่ต้องทำก็คือ เมื่อมีใครก็ตาม มาอยู่ต่อหน้าเรา เราจะ "ดูแลเขา"  ทำให้เขาได้ประโยชน์จากเราให้มากที่สุด

แน่นอน เมื่อมันเป็น "ข้อบัญญัติ" ส่วนตัวของเรา เราก็จะเปิดใจกว้าง เพื่อศึกษาคนที่อยู่ต่อหน้าเราทุกขณะจิต, โดยปราศจากความต้องการประโยชน์ส่วนตัวใด ๆ....เมื่อนั้น เราจะสัมผัสได้ถึง "เสรีภาพ" ในใจของคนที่อยู่ต่อหน้าเรา ผมหมายถึง เราจะรับรู้ได้ว่า เขาคิดอะไร? ต้องการอะไร? และ เราจะช่วยเขาได้อย่างไร?

และสิ่งที่เขาจะ "สัมผัส" ได้จากการอยู่ต่อหน้าเราก็คือ "อิสระภาพ" ที่จะเปิดเผยบางอย่างที่เขาต้องการ โดยไม่ต้องระวัง หรือระแวงว่าเขาจะเสียหาย, เดือดร้อน, ลำบากกายใจ ฯลฯ กับการอยู่ต่อหน้าเรา 

เมื่อนั้น สายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพจะเปิด สิ่งที่จะตามมาจากนั้น คือประโยชน์ล้วน ๆ ที่เราจะมอบให้เขา...

นั่นเป็นของขวัญอีกหลาย ๆ ชิ้น ที่จะตามหลัง แต่ ของขวัญชิ้นสำคัญที่สุด ที่เราได้มอบให้เขาไปเรียบร้อยแล้วคือ "อิสระภาพ" นั่นเอง

(น่าจะมีต่อไหมครับ?....) ลิ้งค์สำหรับอ่าน ตอนที่ 3 ครับ







วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

ของขวัญที่มีค่าที่สุดในโลก คือ "อิสรภาพ" (ตอนแรก)


ขอยกข้อความดี ๆ จากภาพยนตร์อีกสักครั้งนะครับ........

"That's what a ship is, you know. It's not just a keel, and a hull, and a deck, and the sails, that what the ship needs. But what a ship is, what the Black Pearl really is, is freedom."

"สิ่งที่เรือสักลำเป็น มันไม่ใช่แค่กระดูกงูเรือ ลำเรือ องค์ประกอบอื่นหรือใบเรือที่ประกอบกันเป็นเรือลำหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่เรือลำหนึ่งเป็น ที่เรือแบล็คเพิร์ล (ไข่มุกดำ) เป็นจริงๆ คือ อิสรภาพต่างหาก"

จากภาพยนตร์เรื่อง The Pirate of the Caribbean ตอน "The cruse of the Black Pearl"


ถ้าเราเข้าใจคำว่า "อิสรภาพ" และเข้าใจว่าความต้องการสูงสุดของมนุษย์คือ "อิสรภาพ" มันก็จะง่ายขึ้น กับการต้องดูแลผู้คนรอบ ๆ ตัว และจะไม่มีปัญหากับคำถามว่า "ทำไม...คน ๆ นั้น จึงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้?"....

เอาเป็นว่าผมฟันธงได้เลยว่า 99% ของพฤติกรรมคนรอบ ๆ ตัวเราที่ไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง ล้วนมาจากการที่พวกเขาต้องการ "อิสรภาพ" และดิ้นรนเพื่อให้ได้มัน (แม้สักชั่วคราวก็ยังดี)

แต่เราจะทำอย่างไรดี ที่จะดูแลคนที่เรารักไม่ให้ออกนอกเส้นทาง คำตอบก็คือคำถามที่ว่า "เส้นทางของใครล่ะ....ของเขาหรือของเรา?"

ตัวอย่างที่หนึ่ง....ผมให้ลูกสาวทานอาหารเองตั้งแต่วันเกิดครบ 1 ขวบ เพราะผมอยากให้เธอมี "อิสระ" ที่จะเลือกตักอาหารในภาชนะของเธอ, เท่าที่ทักษะการใช้ร่างกายเธอจะทำได้, เท่าที่เธออยากจะกิน  ผมก็ไม่รู้ว่าอะไรทำให้ผมทำอย่างนั้น เพียงผมอยากให้เธอมีอิสระ, มีความสุขกับการกินของเธอเอง ผลที่ได้คือ ผมไม่เคยต้องวิ่งไล่ตามป้อนอาหาร, ไม่เคยต้องเร่งให้เคี้ยว แทนการอมข้าวไว้นาน ๆ ก่อนจะเคี้ยวแล้วกลืนเหมือนเด็ก ๆ คนอื่นเป็น เธอใช้ช้อนซ่อมเก่งตั้งแต่ยังไม่ 2 ขวบ, ใช้ตะเกียบคล่องตั้งแต่ยังไม่ 3 ขวบ ฯลฯ เราพ่อแม่ลูกสามคน มีความสุขกับการทานอาหารพร้อม ๆ กันทุกมื้อ โดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับอิสระในการกินของแต่ละคน......

ตัวอย่างที่สอง....เราพ่อแม่ ไม่เคยต้องปลุกลูกสาวให้ตื่น เพื่อไปโรงเรียน ตั้งแต่อนุบาลเป็นต้นมา เพราะเราตกลงกับลูกไว้ตั้งแต่แรกว่า เราจะไม่ปลุกนะ ถ้าลูกอยากตื่นสาย, อยากไปไม่ทันเข้าห้องเรียน ก็เป็นเรื่องของลูกเอง เราให้อิสระกับลูกเต็มที่ ผลก็คือทุกวัน ลูกจะดูแลตัวเองให้ตื่นขึ้นมา เพื่อปลุกคุณแม่ทุกเช้า สาเหตุเพราะ "กลัวไปโรงเรียนไม่ทัน"


ตัวอย่างที่สาม....เราพ่อแม่ ไม่เคยต้องซื้อของเล่น หรือของใด ๆ ที่ลูกอยากได้ และเอ่ยปากขอ สักครั้งเดียว ย้ำ ไม่เคยสักครั้งเดียว (ยกเว้นเรารู้ว่าลูกอยากได้อะไร แล้วเราซื้อให้ตามโอกาส) เพราะเราตกลงกับลูกไว้ตั้งแต่แรกว่า ลูกจะได้เงินรายวันมากพอ และลูกต้องเก็บเงินเองเพื่อซื้อของเล่นที่ลูกอยากได้เอาเอง ผลก็คือ ลูกสาวเราไม่มีของเล่น เพราะเสียดายว่าตัวเลขจำนวนเงินในธนาคารที่ตัวเองเก็บออมฝากเข้าบัญชีไว้นั้นจะลดลง และไม่เคยร้องขอให้ซื้อของเล่น เพราะทุกครั้งที่เคยขอ เราก็จะบอกเธอว่า "ลูกก็มีเงิน...ซื้อเองก็ได้ไม่ใช่หรือ?"


มีต่อนะครับ...........ไปอ่านตอนที่ 2 ที่นี่เลยครับ