วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

ของขวัญที่มีค่าที่สุดในโลก คือ "อิสรภาพ" (ตอนที่ 4)

ว่าด้วยเรื่องการมอบอิสรภาพ ให้ลูก

ถ้ายังไม่ได้อ่าน หรืออ่านแล้วอยากอ่านอีก คลิ๊กไปอ่าน ตอนแรก ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 กันได้เลยครับ

ลืมว่าวันนี้วันเด็ก (14 มค.) ไม่งั้นนั่งปั่นบทความนี้ตั้งแต่เมื่อคืนนี้แล้ว พอดีเข้าบรรยากาศวันเด็ก......เข้าเรื่องเลยนะครับ

ตามหัวเรื่องครับ ในตอนนี้ผมจะพูดถึงเรื่องลูก....เรื่อง "อิสรภาพ" ของลูก

ผมมีลูกคนเดียว เรียนแพทย์ ปี 2 ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองเลี้ยงลูกเก่ง เธอเก่งด้วยตัวของเธอเอง ที่ผมทำคือ ทำให้ดีที่สุดตั้งแต่ภรรยาตั้งครรภ์...และทำให้ดีมากขึ้นไปอีก ตั้งแต่คลอดจน 3 ขวบ......

....หลังจากนั้น ผมก็ได้มอบของขวัญที่มีค่าที่สุดให้ลูก นั่นคือ อิสรภาพ

ตอนนี้ผมอายุ 57 ลูก 21 ย้อนหลังไปตอนที่ผมคิดว่าผมพร้อมจะมีลูก ผมก็อายุเกือบ 35 แล้ว...ถามว่า "อะไรคือพร้อม?" ผมมีแนวคิดช่วงนั้นว่า


  1. ลูก....คือคนที่เราติดหนี้บุญคุณ เมื่อเราพาคน ๆ หนึ่งให้เกิดขึ้นมาเป็นลูกของเรา เราก็ต้องตอบแทนบุญคุณลูกที่เกิดมาทำให้เรามีความสุข (ไม่ใช่คิดเฉพาะว่าลูกจะต้องตอบแทนบุญคุณพ่อแม่...เพราะลูกไม่เคยอ้อนวอนขอมาเกิด มีแต่พวกเราที่ไปพาเขามาเกิด โดยไม่รู้ว่าตลอดชีวิตของเขา จะเจอสุข-ทุกข์ หรือวิบากกรรมอะไรบ้าง เราจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบที่ทำให้เขาเกิดมา)
  2. แม่ของลูก ต้องเป็นคนที่ผมตัดสินใจแล้วว่าจะตายจากกัน เพราะไม่ว่าจะอย่างไร ผมจะไม่ให้ลูกอยู่ในสภาพพ่อไปทาง แม่ไปทาง อย่างเด็ดขาด (อดีตผมเป็นแบบนั้น และมันเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เจ็บปวด....ผมจะไม่ให้ลูกของผมเป็นเหมือนผม)
  3. เราพ่อแม่ "ต้อง" เลี้ยงลูกเอง ผมไม่ต้องการให้ลูก ถูกเลี้ยงโดยคนที่ไม่ได้เรียนรู้มาดีพอ เพราะผมรู้ว่า ช่วงสำคัญที่สุดของคน ๆ หนึ่งนั้น คือช่วงเวลาตั้งแต่ตั้งครรภ์...คลอด...จน 3 ขวบ หลังจากนั้นก็สายเกินไปแล้ว หากเด็กคนหนึ่ง โดนดูแลแบบผิด ๆ ความผิดปกติใด ๆ ก็ไม่อาจแก้ไขได้เมื่อเด็กโตขึ้นเกิน 3 ขวบแล้ว
  4. ผมต้องการให้แม่ของลูกผม เป็นแม่เต็มเวลา อย่างน้อยจนกว่าจะเข้าโรงเรียน (แม้ว่าผมจะมีแม่ภรรยา...ยายของลูก ที่พร้อมจะดูแลหลาน แต่ผมก็ยังต้องการให้เราสองคนดูแลลูกด้วยตัวเองตลอด 24 ชั่วโมงมากกว่า)
  5. เมื่อมีลูก....อย่างอื่นนอกจาก "ลูก" ก็ไม่สำคัญอีกแล้ว
ผมอ่านหนังสือเยอะมาก (เกี่ยวกับการเลี้ยงเด็ก และพัฒนาการของเด็ก) ประมวลจากที่อ่านมาทั้งหมดแล้วผมคิดว่าผมสามารถเตรียมพร้อมให้เด็กคนหนึ่ง โตขึ้นเป็นคนเก่ง และมีความสุขได้

คน ๆ หนึ่งที่เกิดมาจนจากโลกนี้ไป จะมี "ช่วงชีวิต" สำคัญ ๆ อยู่แค่ 3 ช่วงชีวิต คือ
  1. ช่วง "พึ่งพาคนอื่น"
  2. ช่วง "พึ่งตัวเอง"
  3. ช่วง "เป็นที่พึ่งของคนอื่น"
คนที่ประสบความสำเร็จ คือคนที่ใช้เวลาบนโลกอยู่ในช่วงที่ 3 แล้วเท่านั้น คือเป็นคนที่ "เป็นที่พึ่งของคนอืน" (น่าเสียดายที่คนบางคน เกิดมาจนตาย ใช้ชีวิตอยู่ช่วงที่ 1 ช่วงเดียว คือต้อง "พึ่งพาคนอื่น" ตลอดชีวิต ....แบบนี้ต้องบอกว่า อย่าเกิดมาดีกว่า, คนบางคนแม้จะ "พึ่งตัวเอง" ได้ อาจทำได้เร็วกว่าคนอื่น แต่ก็ไม่ยอมข้ามไปในช่วงที่ 3 คือไม่ยอมช่วยเหลือแบ่งปันใคร ....แบบนี้อาจกล่าวได้ว่า เกิดมาหรือไม่เกิดมา ก็มีค่าเท่ากัน)

ผมเชื่อว่า คน ๆ หนึ่ง ได้ชีวิตมาเป็นมนุษย์แล้วนั้น ย่อมถือว่า "มีคุณค่า" และ "ได้อภิสิทธิ์" มากกว่าสัตว์อื่นในโลก แต่ "คุณค่า" ของมนุษย์นั้นจะเพิ่มขึ้นอีก หากว่าได้ทำ "หน้าที่" ในการดูแลคนอื่น.....มนุษย์ที่ดูแลคนอื่นได้ ย่อมสมควรกับที่ได้เกิดมาบนโลก

"สิทธิ มาคู่กับ "หน้าที่" เสมอ นี่คือกฏ ถ้าใครรู้กฏนี้ ชีวิตก็สมดุล

(ใช้สิทธิมาก วิถีชีวิตตกต่ำ ทำหน้าที่มาก วิถีชีวิตขึ้นสูง )

ดังนั้น ช่วงเวลาในชีวิตของลูก ต้องอยู่ในช่วงเวลาที่ 3 คือเป็นที่พึ่งของคนอื่นให้มากที่สุด นั่นหมายถึงลูกต้อง "พึ่งตัวเอง" ให้ได้เร็วที่สุดด้วยนั่นเอง เราพ่อแม่ จึงจัดสภาพแวดล้อมให้ลูกได้พัฒนาตัวเองตั้งแต่เรื่องของ ร่างกาย, จิตใจ, สมอง และ อารมณ์ ไม่ให้ตกอยู่ในสภาพ "พึ่งพาคนอื่น" นานเกินไป 
  • ช่วงตั้งครรภ์ ผมทำสภาพแวดล้อม ไม่ให้ภรรยาทุกข์, กังวล, เครียด ใด ๆ ทั้งสิ้น เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะอารมณ์แม่ มีผลกับลูกในท้อง
  • ช่วงเดือนแรก ๆ ผมสร้างสภาพแวดล้อม ไม่ให้เด็กแรกเกิดมีทุกข์, กังวล, เครียด, ตกใจ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องเทคนิคครับ รายละเอียดเยอะมาก (แชร์ให้ฟังสักเล็กน้อยก็ได้...แต่ถ้าอยากรู้ละเอียด คุยส่วนตัวได้ครับ ผมถือว่าผมจบปริญญาเอกได้เลยเรื่องนี้...) เช่น ห้องเลี้ยงเด็กต้องเงียบสนิท ไม่ให้เสียงภายนอกรบกวน, เปิดเทปเพลง 24 ชั่วโมง ตลอด 6 เดือน, ไม่อนุญาตคนอื่นนอกจาก เราสองคนพ่อแม่ ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของลูก....เช่น เรื่องการให้นม, การอาบน้ำ, การเปลี่ยนผ้าอ้อม ฯลฯ แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ ก็จำเป็นต้องระวังอย่างยิ่ง หลาย ๆ อย่างสำคัญสำหรับพัฒนาการ แม้แต่เวลา และปริมาณของอาหารเด็กแต่ละมื้อ ก็มีผลต่อการนอนหลับ การนอนหลับก็มีผลกับสมอง (เราสองคน ถึงกับเข้าเวรกลางคืน แม้ผมจะทำงานประจำตอนกลางวัน แต่ผมจะเข้าเวร เพื่อตื่นหลังเที่ยงคืนสลับกับภรรยาสัปดาห์ละครั้ง เพราะผมถือว่าภรรยาเลี้ยงลูกช่วงกลางวัน ก็เสียสละเท่ากับที่ผมไปทำงานตอนกลางวันเช่นกัน ผมจึงไม่เอาเปรียบภรรยานอนหลับทั้งคืน ปล่อยให้ภรรยาดูลูกตอนดึกคนเดียวโดยอ้างการทำงานหาเงินตอนกลางวัน)
  • ข้าง ๆ ที่นอนลูก (ตั้งแต่ลูกนั่งได้) เราจะวางหนังสือเล่มใหญ่ ที่มีภาพสีสวย ๆ ไว้ข้างตัวลูกตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อใดที่ภรรยาผมว่าง เธอก็จะเปิดหนังสือ ชี้ให้ลูกดูรูป คุยกับลูก ชี้ที่ตัวหนังสือแล้วอ่านให้ลูกฟัง ถ้าภรรยาผมไม่ว่าง แต่ลูกว่าง ลูกก็จะพยายามเปิดหนังสือเอง ทำท่าเคร่งเครียดเหมือนกำลังอ่านอย่างเอาจริงเอาจัง
  • เราคุยกับลูกด้วยภาษาผู้ใหญ่ ไม่เคยพูด อ้อ ๆ แอ้ ๆ กับลูก, เราไม่เคยหลอกให้ลูกตกใจกลัว, เราไม่เคยสัญญาอะไรลูกโดยที่เราทำไม่ได้, เราไม่เคยโกหกลูก
  • ก่อน 3 ขวบ ผมตีลูก สักสองสามครั้งที่ลูกดื้อ,ไม่มีเหตุผล ผมจะตีให้เจ็บ แล้วสอน (หลัง 3 ขวบ ก็ไม่เคยมีเหตุต้องตีลูกอีกเลย)
  • อย่างที่เล่าให้ฟังในบทความตอนแรก เราให้ลูกทานอาหารเองตั้งแต่ครบ 1 ขวบ โดยเราให้เค็กวันเกิด 1 ชิ้น ช้อน 1 อัน (แน่นอนว่าลูกก็กินเค็กไปได้บ้างอย่างสนุกสนาน แต่ส่วนใหญ่ของขนมเค็ก ย่อมติดอยู่ตามตัวลูกตั้งแต่หัวจรดเท้า) ของขวัญวันเกิดครับ 1 ปีของลูก ไม่ใช่เค็กก้อนนั้น แต่มันคือ "อิสรภาพ" ในการทานอาหาร ของลูกต่างหาก.....ตั้งแต่นั้นมา ลูกสนุกสนานกับการพยายามกินด้วยตัวเองมาตลอด
ตั้งแต่นั้นมา เราก็มอบ "อิสรภาพ" ให้ลูกทีละอย่าง เราให้ลูกเก็บออมเงินค่าขนมไว้ โดยให้แรงจูงใจด้วยการสมทบ (ถ้าลูกเก็บครบ 100 บาท เราสมทบให้อีก 100 บาท เป็นต้น) แล้วเราก็บอกลูกว่า เมื่อลูกมีเงินเก็บแล้ว ลูกก็ต้องซื้อของเล่นเองตามที่ลูกอยากซื้อ ปรากฏว่าลูกเลือกทำให้ตัวเลขในบัญชีเงินฝากเพิ่มขึ้น มากกว่าทำให้ของเล่นเพิ่มขึ้น

เราให้ลูกเลือกซื้อเสื้อผ้าใส่เอง, เราให้ลูกเลือกเวลาตื่นนอนตอนเช้าเองแม้ในวันที่ต้องเรียน (เล่าให้ฟังแล้วตอนแรก), เราให้ลูกเลือกวิชาเรียนเอง, เราให้ลูกเลือกเรียน หรือไม่เรียนพิเศษ, เราให้ลูกเลือกวิชาที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยเอง......วันนี้ ลูกเราเรียนแพทย์ปีสอง



ตั้งแต่ลูกเกิด ไม่มีอะไรที่เรา "ขอ" จากลูก เราไม่เคย "ขอ" ให้ลูกเรียนเก่ง ๆ , เราไม่เคย "ขอ" ให้ลูกทำตัวดี ๆ สิ่งที่เราทำคือ "ให้" อย่างเดียว ไม่ใช่ให้เงินให้ทอง ให้วัตถุสิ่งของ แต่ให้ "สภาพแวดล้อม" ที่ทำให้ลูกมีความรู้สึกอิสระ สภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมให้ลูกสามารถดูแลตัวเองได้ดี และเร็วที่สุด

สภาพแวดล้อมที่เราสร้างก็คือ "ครอบครัว" ที่ดี ผมและภรรยา ไม่เคยทะเลาะ, โต้เถียงกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลังลูก ผมสามารถพูดได้ว่า เราเป็นคู่ที่ทะเลาะกันไม่เป็น ลูกไม่เคยอยู่ในสถานการณ์ที่พ่อแม่ผิดใจกัน

ผมขอยืนยันอีกครั้งว่าผมไม่ใช่คนเก่ง ผมเพียงแต่ดำเนินชีวิตมา "ถูกทิศทาง" เพียงแต่ผมจับหลักการพื้นฐานง่าย ๆ ได้ไม่กี่อย่าง
  1. ผมทำหน้าที่ของสามีตามคำสอนของศาสนาพุทธ
  2. ผมถือศีล 5 และละเว้นอบายมุข
  3. ผมให้ของขวัญที่มีค่าที่สุดคือ "อิสรภาพ" กับทุกคนในครอบครัว
สำหรับอนาคตของลูก ผมเชื่อว่าผมคงไม่ต้องกังวลใด ๆ เพราะผมได้ใช้ความพยายามอย่างหนัก กับลูกเพียงในช่วง 3 ขวบแรกของชีวิตเธอมาแล้ว หลังจากนั้นเป็นต้นมา ผมคิดว่าผมไม่ได้ "เหนื่อย" กับการเลี้ยงลูกอีกเลย ผมมีความรู้สึกว่าลูก "ดูแลตัวเอง" ได้ดีมาตั้งแต่ตอนนั้น ดังนั้น ในตอนนี้ที่ลูกกำลังเรียนแพทย์....อีกไม่กี่ปีลูกก็จะจบได้เป็น

"แพทย์หญิงอิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร" 

ลูกก็ได้จะทำหน้าที่ "ดูแลผู้อื่น" ได้ชื่อว่าเป็นคนที่เข้าไปอยู่ในช่วงชีวิตของการ "เป็นที่พึ่งของคนอื่น" ตั้งแต่อายุยี่สิบต้น ๆ ....อย่างนี้คิดว่าผมจะเป็นกังวลกับชีวิตของลูกอีกไหมล่ะครับ?

ผมทำได้ ทุกท่านก็ทำได้ครับ (จบแบบนี้ คุ้น ๆ ไหมครับ)

บันทึกเพิ่มเติม : วันที่ 8 ตุลาคม 2559 วันนี้ผมอายุ 61 ปี ลูกจบแพทย์แล้ว เป็นแพทย์เกียรตินิยมด้วย กำลังเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง .....หลายคนบอกผมกับภรรยาว่า "โชคดีจัง" ผมจะบอกให้นะครับ "โชค" แปลว่า เมื่อโอกาสมาถึง เรา "รู้" ว่ามันเป็นโอกาส และมีความพร้อมเสมอที่จะรับโอกาสนั้น ...

ไม่มีอะไรครับ อัพเดทให้เฉย ๆ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น